วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555


มาร์ซกับการปฏิวัติยุโรป ค.ศ.1848 ตอนเริ่มต้น
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ต้นปี ค.ศ. ๑๘๔๘ มาร์กซ ยังอยู่ที่เบลเยียม ในขณะที่การปฏิวัติยุโรปกำลังจะเริ่มต้น การปฏิวัติยุโรป ค.ศ. ๑๘๔๘ เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ยุโรป ในที่นี้จึงจะต้องขอเล่าเรื่องราวของการปฏิวัติครั้งนี้โดยสังเขป
ยุโรปก่อน ค.ศ.๑๘๔๘ นั้น เป็นยุคแรกแห่งการพัฒนาของระบอบทุนนิยมสมัยใหม่ ซึ่งเริ่มจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษหลัง ค.ศ. ๑๗๗๐ อันนำมาซึ่งการเกิดระบบโรงงานอุตสาหกรรม และการขยายตัวอย่างมากของธุรกิจการค้า ต่อมาหลัง ค.ศ.๑๘๓๐ การปฏิวัติอุตสาหกรรมก็เริ่มแผ่ขยายไปในประเทศอื่น เช่น ฝรั่งเศส เบลเยียม และในแคว้นเยอรมนีตอนเหนือ ทำให้ระบบทุนนิยมเริ่มขยายตัวในดินแดนเหล่านี้
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้ชนชั้นพ่อค้านายทุนมีบทบาทมากขึ้น ชนชั้นกลางและชนชั้นกรรมาชีพ ก็ขยายตัวมากขึ้นตามเมืองต่างๆ ขณะที่กษัตริย์และเจ้าศักดินายังคงครอบงำอำนาจทางการเมือง ยุคสมัยดังกล่าวจึงเป็นยุคสมัยแห่งความขัดแย้งทางความคิดระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมปฏิกิริยา และกลุ่มปัญญาชนก้าวหน้า
พวกอนุรักษ์นิยมก็คือพวกนิยมกษัตริย์ ที่มุ่งจะรักษาสถานะของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิ์ ปกป้องศาสนจักร  และรักษาอภิสิทธิ์ของชนชั้นขุนนางและเจ้าที่ดินยุโรปก่อน ค.ศ.๑๘๔๘ นั้น พวกอนุรักษ์นิยมยังทรงอิทธิพลมาก เพราะระบบการเมืองของประเทศต่างๆ ส่วนมากยังอยู่ภายใต้ระบอบราชาธิปไตยที่กษัตริย์มีอำนาจสมบูรณ์ โดยมีพระเจ้าซาร์แห่งรุสเซียนิโคลัสที่ ๑ เป็นประธานของพลังอนุรักษ์นิยมปฏิกิริยา และมีผู้ร่วมมือสำคัญ คือ จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ แห่งออสเตรีย และกษัตริย์เฟรเดอริดที่ ๔ แห่งปรัสเซีย กษัตริย์ทั้งสามได้ร่วมกันในองค์กร "พันธมิตรอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อธำรงรักษาแบบแผนเดิมหรือระบอบเก่าของยุโรป และต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยมีอัครเสนาบดีของออสเตรีย คือ เมตแตร์นิค เป็นผู้ประสานและดำเนินงาน ดังนั้นจึงเรียกระบบการเมืองของยุโรปในสมัยนี้ว่า "ระบบเมตแตร์นิค" (Metternich)
การที่ออสเตรียมีบทบาทมากก็เป็นเพราะอำนาจของราชวงศ์ฮับสเบิร์ก ออสเตรีย ยังคงปกคลุมดินแดนต่างๆ หลายแห่งในยุโรป ตั้งแต่ในอิตาลี เวนิส ดัลมาเชีย ฮังการี โครเอเธีย โบเฮเมีย และยังมีอิทธิพลเหนือรัฐเยอรมันต่างๆ ซึ่งมี ๓๙ รัฐ คู่แข่งสำคัญของออสเตรียก็คือ ปรัสเซีย ที่พยายามสร้างอำนาจเหนือรัฐเยอรมันเช่นกัน
สำหรับในกรณีของฝรั่งเศส เป็นยุคของกษัตริย์หลุยส์ฟิลิปแห่งราชวงศ์ออร์ลีอัง ซึ่งแม้ว่าจะปกครองประเทศในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ก็มีแนวโน้มในทางอนุรักษ์นิยมเช่นกัน โดยเฉพาะ กิโซต์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ก็เป็นหัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์นิยม แนวคิดของพวกอนุรักษ์นิยมที่ต้องการรักษาสถานะของระบบเก่า เห็นได้จากคำอธิบายของเอ็ร์ดมัน เบิร์ก (Edmund Berg) นักคิดคนสำคัญของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่กล่าวว่า สถาบันกษัตริย์ รัฐ สังคม กฎหมาย ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเป็นสถาบันสำคัญในการรักษาอำนาจและระเบียบสังคม ราษฎรจึงไม่มีสิทธิ์ก่อกบฏ เพราะจะก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพและวุ่นวาย ดังนั้นกษัตริย์มีความชอบธรรมในการปกครองทั้งจากเทวสิทธิที่รับจากพระเจ้า และจากเหตุผลการดำรงอยู่ของรัฐ
สำหรับกลุ่มปัญญาชนก้าวหน้าจะมีทั้งกลุ่มเสรีนิยม (Liberalism) และกลุ่มสังคมนิยม ทั้งสองกลุ่มต่างก็เป็นทายาทของการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยต่างมีเห็นร่วมกันว่า ระบอบกษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม พวกเสรีนิยมมีความต้องการจำกัดอำนาจกษัตริย์ มีการประกันสิทธิประชาชนด้วยรัฐธรรมนูญ ต้องการแบ่งแยกอำนาจให้มีระบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ต้องการให้มีสิทธิเสรีภาพทางการพูด การเขียน การแสดงความเห็น มีเสรีภาพทางศาสนา และมีเศรษฐกิจแบบเสรีเป็นไปตามธรรมชาติ  ฝ่ายเสรีนิยมแบ่งเป็น ๒ กลุ่มคือ กลุ่มนิยมระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ และกลุ่มสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐ
สำหรับกลุ่มสังคมนิยม มิได้ต้องการเพียงเสรีภาพทางการเมือง แต่ต้องการความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมากพวกสังคมนิยมจะมีความเห็นร่วมกันว่าสังคมเก่า มีความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ มีการกดขี่ขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบระหว่างมนุษย์ และเห็นว่ากรรมสิทธิ์เอกชนนั้นเป็นที่มาของการขูดรีด กลุ่มสังคมนิยมจึงต้องการเสนอให้สร้างสังคมใหม่ที่มนุษย์จะมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และมีกรรมสิทธิ์ส่วนรวม
มาร์กซ เป็นหนึ่งในกลุ่มปัญญาชนสังคมนิยม เขาเสนอการวิเคราะห์สังคมเก่าด้วยทฤษฎีชนชั้น และเสนอให้สร้างสังคมใหม่ โดยการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ มาร์กซจึงสนับสนุนการจัดตั้งชนชั้นกรรมกร เพื่อจะดำเนินการให้การปฏิวัติสังคมนิยมปรากฏเป็นจริง การปฏิวัติ ค.ศ.๑๘๔๘ เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้
อันที่จริงตัวเร่งของการปฏิวัติคือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในยุโรป ใน ค.ศ. ๑๘๔๖ ทำให้ราคาสินค้าอาหารคือขนมปังและมันฝรั่ง มีราคาแพงทั้งในฝรั่งเศสและในรัฐเยอรมนี ทำให้เกิดความอดอยากทั่วไป อำนาจซื้อของประชาชนลดต่ำลงจนทำให้กิจการต่าง ๆ ประสบภาวะขาดทุน ต้องปิดตัวลงจำนวนมากใน ค.ศ. ๑๘๔๗ ภาวะเศรษฐกิจยิ่งเลวร้ายลง และส่งผลกระทบทั่ว ยุโรป คนว่างงานยิ่งทวีมากขึ้น จึงก่อให้เกิดความไม่พอใจทั่วไป
ดังนั้น ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๔๘  การปฏิวัติจึงเกิดขึ้นก่อนที่เมืองปาเลโม ในซิซิลี ประชาชนลุกฮือขึ้นปฏิวัติและขยายไปทั่วอาณาจักรเนเปิล จนในที่สุดกษัตริย์เฟอร์ดินานที่ ๒ ของเนเปิลก็ถูกบีบให้พระราชทานรัฐธรรมนูญ
ต่อมาในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๘ เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ของประชาชนในกรุงปารีส เพื่อต่อต้านกษัตริย์หลุยส์ฟิลิป ปรากฏว่ารัฐบาลรัฐบาลกีโซต์สั่งปราบ เกิดการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิต ๑๖ คน ประชาชนจึงลุกฮือขึ้นสู้ มีการตั้งป้อมกลางถนนขึ้นทั่วไปในปารีส  เมื่อการต่อต้านกษัตริย์ขยายตัวออกไปจนรัฐบาลไม่อาจคุมสถานการณ์ไว้ได้ กองทหารที่ส่งไปปราบ ก็ไปเข้าร่วมกับฝ่ายประชาชน ในที่สุดวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พระเจ้าหลุยส์ฟิลิปต้องยอมสละราชสมบัติและหนีไปลี้ภัยในอังกฤษ กลุ่มผู้นำปฏิวัติจึงตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นบริหารประเทศ โดยประกาศให้ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐที่ ๒ในการปฏิวัติครั้งนี้ กลุ่มสังคมนิยมของฝรั่งเศสนำโดยมีอัลฟองโซ เดอ ลามาร์ทีน และ หลุยส์ บลังก์  ก็เข้าร่วมด้วย
เมื่อเกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศสแล้ว กระแสปฏิวัติก็เผยแพร่ไปยังประเทศอื่นอย่างรวดเร็ว  ในวันที่ ๑๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ เกิดการเดินขบวนครั้งใหญ่ของประชาชนในเมืองปราก แคว้นโบฮีเมียของออสเตรีย ต่อมาวันที่ ๑๓ มีนาคม  เกิดการปฏิวัติในกรุงเวียนนา เมืองหลวงของอาณาจักรออสเตรีย ประชาชนลุกฮือขึ้นประท้วง และมีการตั้งป้อมกลางถนนขึ้นจำนวนมากเพื่อต่อต้านทหารฝ่ายรัฐบาล จนเสนาบดีเมตเตอร์นิคต้องสละตำแหน่งและปลอมตัวหนีออกจากเมือง จึงเป็นการสิ้นอำนาจของเมตเตอร์นิกตั้งแต่นั้น  ดังนั้นจักรพรรดิเฟอร์ดินานแห่งออสเตรียจึงต้องยอมผ่อนกระแส โดยสัญญาว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และประกาศให้มีการยกเลิกระบบทาสกสิกรทั่วราชอาณาจักร
หลังจากนั้น การปฏิวัติก็ขยายไปทั่วทั้งในอาณาจักรออสเตรียและรัฐเยอรมนี โดยเฉพาะในฮังการี การปฏิวัติเกิดขึ้นในวันที่ ๑๕ มีนาคม ผู้นำการปฏิวัติคือ  หลุยส์ คอสซุธ ได้ประนามระบบเมตแตอร์นิกในสภาฮังการี และผลักดันให้สภาตั้งเป็นสภาแห่งชาติ แล้วออกกฎหมายเดือนมีนาคม(March Laws)แยกฮังการีเป็นอิสระ แต่ยังอยู่ภายใต้กษัตริย์ราชวงศ์ฮับสเบิร์ก  จักรพรรดิออสเตรียไม่มีกำลังไปปราบปรามจึงต้องยินยอม นอกจากนี้ยังมีการปฏิวัติเกิดขึ้นที่เมืองเวนิสและที่มิลาน นำมาสู่การประกาศเอกราชของเมืองทั้งสอง โดยที่เวนิสนั้นมีประกาศเป็นสาธารณรัฐที่เมือง คราคอฟ ในแคว้นกาลีเซียของออสเตรียก็เกิดการปฏิวัติเพื่อแยกกาลีเซียเป็นเขตปกครองตนเอง 
ส่วนในกลุ่มรัฐเยอรมนี กลุ่มสังคมนิยมและเสรีนิยมต่างก็ก่อการปฏิวัติขึ้นในหลายรัฐ เช่นวันที่ ๔ มีนาคม เกิดการปฏิวัตที่มิวนิกเมืองหลวงของบาวาเรีย แม้กระทั่งในปรัสเซียก็เกิดการปฏิวัติขึ้นในแคว้นไรน์ ในวันที่ ๓ มีนาคม และต่อมาในวันที่ ๑๘ มีนาคม การปฏิวัติก็ลุกลามไปถึงกรุงเบอร์ลิน โดยประชาชนพากันเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย และตั้งป้อมกลางถนนขึ้น  ในที่สุดพระเจ้าเฟรเดอริดที่ ๔ แห่งปรัสเซีย ต้องยอมผ่อนปรนโดยการพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่เป็นรัฐธรรมนูญอภิชนที่ยังคงอำนาจไว้ที่กษัตริย์ และยังไม่ได้ให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากนัก
จากนั้นในเดือนพฤษภาคม กลุ่มเสรีนิยมเยอรมันจากรัฐต่าง ๆ ก็มาประชุมกันที่เมืองแฟรงเฟิร์ต แล้วตั้งเป็นสภาแห่งชาติเยอรมนี เรียกร้องให้มีการรวมรัฐต่าง ๆ เข้าเป็นสหพันธรัฐเยอรมนี ด้วยระบอบการเมืองแบบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีรัฐธรรมนูญ มีเสรีภาพ และการเลือกตั้ง กลุ่มนี้เสนอให้เชิญให้พระเจ้าเฟรเดริดที่ ๔ มาเป็นจักรพรรดิเยอรมนี แต่พระเจ้าเฟรเดอริดที่ ๔ ยังไม่เต็มใจ พระองค์เรียกตำแหน่งจักรพรรดิที่สภาแห่งชาติแฟรงเฟิร์ตมาเสนอให้ว่าเป็น "มงกุฎจากข้างถนน"
กระแสแห่งการปฏิวัตินี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของมาร์กซ  ซึ่งเมื่อเกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๘ นั้น  มาร์กซ ยังอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ข่าวการปฏิวัติจากฝรั่งเศสมาถึงบรัสเซลส์ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๘ และนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวปฏิวัติในเบลเยี่ยมด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเบลเยี่ยมยังควบคุมสถานการณ์ได้ วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ รัฐบาลเบลเยี่ยมเริ่มทำการจับกุมกลุ่มก้าวหน้า พร้อมทั้งเตรียมการที่จะเนรเทศนักปฏิวัติลี้ภัยที่อยู่ในบรัสเซลส์รวมทั้งมาร์กซ
ก่อนหน้านี้ มาร์กซ เพิ่งได้รับมรดกจากมารดาเป็นเงิน ๖๐๐๐ ฟรังค์ ทำให้ทางการตำรวจเบลเยี่ยมสงสัยว่า มาร์กซจะใช้เงินจำนวนนี้สนับสนุนการปฏิวัติ  จึงได้ทำการจับกุม มาร์กซ ในวันที่ ๔ มีนาคม และในที่สุด ทางการเบลเยียมก็เนรเทศ มาร์กซและครอบครัวมายังกรุงปารีสในวันที่ ๕ มีนาคม
เมื่อมาร์กซมาถึงปารีสนั้น ยังอยู่ในช่วงหลังปฏิวัติ ร่องรอยของป้อมกลางถนนยังอยู่ตามถนนสายต่าง ๆ ในปารีส และธงสามสีซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติฝรั่งเศสยังประดับอยู่ทั่วไปควบคู่กับธงแดงของฝ่ายสังคมนิยม   เมื่อ มาร์กซ มาถึงก็เข้าร่วมการเคลื่อนไหวปฏิวัติทันที เขาเข้าร่วมประชุมกับสมาคมสิทธิมนุษยชนฝรั่งเศส ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญที่มีส่วนในการปฏิวัติ จากนั้น มาร์กซ และกลุ่มเพื่อนก็ตั้งองค์กรคนงานเพื่อเตรียมการปฏิวัติในเยอรมนี โดยพยายามรวบรวมคนงานชาวเยอรมันที่ทำงานอยู่ในปารีส ได้มีการเปิดประชุมสันนิบาติคอมมิวนิสต์ในกรุงปารีสในวันที่ ๑๐ มีนาคม ปรากฏว่าที่ประชุมได้เลือก มาร์กซ เป็นประธาน และเตรียมการที่จะออกหนังสือพิมพ์ปฏิวัติในฝรั่งเศส เพื่อที่จะส่งไปเผยแพร่ในเยอรมนี
วันที่ ๑๙ มีนาคม ข่าวการปฏิวัติในออสเตรียก็มาถึง และหลังจากนั้น ก็ติดตามมาด้วยข่าวการปฏิวัติในปรัสเซีย ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นเต้นยินดีอย่างมากในหมู่ชาวเยอรมันในปารีส   มาร์กซ และกลุ่มสหายนักปฏิวัติในสันนิบาตคอมมิวนิสต์ จึงตัดสินใจเดินทางกลับเพื่อไปร่วมการปฏิวัติในดินแดนเยอรมนี
เอกสารสำคัญที่ชาวสันนิบาตนำติดมือไปก็คือ "แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์" ของมาร์กซและเองเกลส์ และอีกฉบับหนึ่งเป็นเอกสารนโยบาย ๑๐ ข้อ ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้โอนกิจการธนาคารเข้าเป็นของรัฐ เก็บภาษีรายได้ในอัตราก้าวหน้า จำกัดสิทธิในด้านมรดก ยกเลิกพันธสัญญาในที่ดินแบบศักดินา และจัดการศึกษาฟรีให้กับประชาชน
สำหรับ มาร์กซ ออกเดินทางจากปารีสต้นเดือนเมษายน ไปยังเมืองโคโลญ โดยมีเองเกลส์ร่วมเดินทางไปด้วย นอกจากนี้ก็คือ เอิร์นสก์ ดรองเก(Ernst Dronke) สมาชิกสันนิบาตคอมมิวนิสต์อีกคนหนึ่ง คณะเดินทางของ มาร์กซ หยุดที่เมืองเมนซ์ ๒ วัน เมืองนี้อยู่ในเขตไรน์แลนด์ และอยู่นอกเขตปรัสเซีย  มาร์กซ ได้เรียกประชุมสมาคมกรรมกร และเรียกร้องให้องค์กรกรรมกรทั่วเยอรมนีรวมตัวกันเพื่อผลักดันการปฏิวัติ
มาร์กซ และคณะมาถึงเมืองโคโลญในวันที่ ๑๐ เมษายน สำหรับเจนนี และลูกของมาร์กซ ได้แวะเยี่ยมบ้านเดิมที่เมืองเทรียส์ และเดินทางมาร่วมกับ มาร์กซ ที่เมืองโคโลญจน์ภายหลัง เมืองโคโลญในขณะนั้นเป็นเมืองใหญ่อันดับสามในรัฐปรัสเซีย มีประชากรราวแสนคน และอยู่ในเขตที่มีการพัฒนา อุตสาหกรรมมากที่สุดในแว่นแคว้นเยอรมนี ในเมืองนี้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อนเช่นกัน โดยมีผู้นำสำคัญเช่น อันดรีส กอตต์ชอลก์ (Andreas Gottschalk) ออกุส วิลลิช(August Willich) และ ฟรีดริช อันเนเก (Freidrich Anneke)

ในวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ประชาชนชาวโคโลญได้มีการเคลื่อนไหวปฏิวัติเป็นแห่งแรกในปรัสเซีย โดยประชาชนนับหมื่นคนมาชุมนุมกันที่ศาลาว่าการเมือง กอตต์ชอลก์กับวิลลิช ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยให้มีรัฐธรรมนูญและระบบรัฐสภา ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้ง ให้มีเสรีภาพทางด้านหนังสือพิมพ์และการตั้งสมาคม และให้รัฐประกันการว่างงานและจัดการศึกษาฟรีให้ประชาชน ปรากฏว่าทางการตำรวจโคโลญได้จับกุมคุมขังกลุ่มผู้นำการประท้วง แต่ต่อมาในวันที่ ๒๐ มีนาคม ก็ต้องปล่อยตัว เพราะเกิดการปฏิวัติในเบอร์ลิน และรัฐบาลปรัสเซียปรับเปลี่ยนนโยบาย ให้เสรีภาพและปฏิรูปการเมือง
เมื่อได้รับการปล่อยตัว กอตต์ชอลก์ได้ตั้งสมาคมคนงานโคโลญขึ้น ปรากฏว่าสมาคมขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีกรรมกร และคนว่างงานจำนวนมากเข้าร่วม จนในที่สุดมีสมาชิกถึง ๘๐๐๐ คน  แต่กรรมกรโรงงานยังมีน้อย ส่วนมากเป็นช่างฝีมือและพ่อค้าย่อย เมื่อ มาร์กซ มาถึง การเคลื่อนไหวกรรมกรในโคโลญเป็นไปอย่างแข็งขัน กอตต์ชอลก์จึงแนะนำให้มาร์กซ ไปเคลื่อนไหวต่อที่เบอร์ลิน หรือไม่ก็ลงสมัครผู้แทนราษฎรที่เมืองเทรียส์ซึ่งเป็นบ้านเดิม
ความจริงแล้วกอตต์ชอลก์มีความเห็นไม่ตรงกับมาร์กซ เขาเป็นเพื่อนสนิทของโมเสส เฮสส์ ซึ่งมีแนวคิดประนีประนอมกับฝ่ายศาสนา นอกจากนี้กอตต์ชอลก์ยังไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติทางการเมือง เขาสนใจสิทธิของกรรมกรเพียงข้อเรียกร้องทางเศรษฐกิจ ที่จะปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่และประกันการว่างงานของกรรมกรเท่านั้น ดังนั้นเขาจึงยอมรับได้กับระบอบ "กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญที่มีรากฐานคุณธรรมคริสต์"
แต่ประเด็นเฉพาะหน้าของกอตต์ชอลก์และ มาร์กซ ก็คือ ปัญหาที่ว่าควรจะเข้าร่วมในระบอบรัฐสภาของปรัสเซียที่กำลังจัดให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ และควรที่จะเข้าร่วมกับสภาแห่งชาติที่เมืองแฟรงเฟิร์ตหรือไม่ แม้ว่ากอตต์ชอลก์จะมีแนวโน้มสายกลางเช่นนั้น เขาก็ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งทางอ้อมที่รัฐเยอรมันหลายรัฐจัดขึ้น เพราะการเลือกตั้งลักษณะเช่นนั้นเป็นการตัดสิทธิ์กรรมกรและคนยากจน แต่มาร์กซเห็นว่า แม้แนวโน้มการปฏิวัติที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็นการปฏิวัติของชนชั้นกระฎุมพี แต่ชนชั้นกรรมกรจะต้องเข้าร่วมผลักดัน เพื่อช่วงชิงผลที่ได้มาให้เป็นของชนชั้นตน และจะทำให้ขบวนการกรรมกรไม่โดดเดี่ยว อีกทั้งยังสร้างความสามัคคีกับกลุ่มปฏิวัติอื่นๆ มาร์กซจึงได้เสนอให้ยุบสันนิบาติคอมมิวนิสต์ลง ทั้งนี้เนื่องจากการที่การปฏิวัติขยายตัวทั่วเยอรมนี สมาชิกของสันนิบาตต่างก็เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเปิดเผยกับองค์กรอื่น ๆ ทำให้สันนิบาตซึ่งเริ่มตั้งจากชาวเยอรมันลี้ภัยนอกประเทศ ดำเนินการต่อไปได้ยาก และ มาร์กซ ยังเห็นว่า ข้อเรียกร้องของสันนิบาตยังรุนแรงเกินไป ยังไม่เหมาะกับภาวะแห่งการปฏิวัติกระฎุมพี ซึ่งยังจะต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มกษัตริย์นิยมและพวกอนุรักษ์นิยมอื่นๆ
1สาธารณรัฐครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๗๙๑ หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งแรก และการโค่นกษัตริย์หลุยสฺ์ที่ ๑๖ แห่งราชวงศ์บรูบอง สาธารณรัฐครั้งนั้นสิ้นสุดลงเมื่อ นโปเลียน โปนาปาร์ต ประกาศตั้งตนเป็นจักรพรรดิ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วัดหนองโว้ง(พระอารามหลวง)

วัดหนองโว้ง(พระอารามหลวง)
ตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

พระวิสัน (พธบ./รปม)

รูปแบบ การวิจัย โดย ผศ.(พิเศษ) นภดล สุชาติ พ.บ M.P.H

อ้างอิงจาก http://www.slideshare.net/guest9e1b8/9-presentation-948269

South East Asia University

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ตัวแบบนโยบายสาธารณะสมัยใหม่

กิจกรรมดูงานเชื่อมสายสัมพันธ์ MPA12and MPA13

Download

เสียงปลง

Nonstop - I'm The Sexy Girl - DJ Back Up