Pages

วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รัฐกับการปฎิวัติ 4 - วี.ไอ.เลนิน


รัฐและการปฏิวัติ
ความจัดเจนของคอมมูนปารีส 1871: การวิเคราะห์ของมาร์คซ์
1.วีรกรรมแห่งความพยายามของชาวคอมมูนอยู่ในข้อใด ?
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1870 (สองสามเดือนก่อนจัดตั้ง คอมมูน) มาร์คซ์ได้เตือนกรรมกรปารีสว่า ความพยายามใดๆ ที่จะโค่นล้มรัฐบาล นับเป็นเรื่องโง่ทั้งสิ้นทว่าในเดือนมีนาคม 1871 เมื่อการต่อสู้ขั้นแตกหักถูกยัดเยียดให้กับกรรมกร และกรรมกรก็ยอมรับมือกับการท้าทายเมื่อการลุกฮือกลายเป็นความจริงขึ้นมา มาร์คซ์ได้ต้อนรับการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพด้วยความศรัทธาในความกล้า ทั้งที่มีลางไปในทางลบ มาร์คซ์มิได้ถือท่าทีแก่ตำรา ประณามความเคลื่อนไหวที่ “ ผิดกาละเทศะ ” อย่างที่ผู้แปรพักตร์จากลัทธิมาร์คซ์ ชาวรัสเซียชื่อ นายเพลคานอฟ ได้กระทำ คือในเดือนพฤศจิกายน 1905 คนผู้นี้ได้เขียนหนังสือเป็นเชิงสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมกรและชาวนา แต่พอคล้อยหลังเดือนธันวาคม 1905 กลับตะโกนก้องตามแบบฉบับพวกเสรีนิยมว่า “ พวกเขาไม่ควรจับอาวุธเลย ”

อย่างไรก็ตาม มาร์คซ์ มิเพียงแต่มีศรัทธาแก่กล้าในวีรกรรมของชาวคอมมูน ซึ่งเป็นผู้ “ โจมตีสวรรค์ ” ดังที่ท่านกล่าวเอาไว้เท่านั้น แม้ความเคลื่อนไหวปฏิวัติของมวลชนจะไม่สัมฤทธิ์จุดประสงค์ ท่านก็ถือว่ามันเป็นความเจนจัดทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวง ในแง่ที่เป็นความก้าวหน้าของ การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพสากล ในแง่ที่เป็นขั้นปฏิบัติขั้นหนึ่งที่มีความสลักสำคัญกว่าโครงการและข้อถก เถียงร้อยสี่พันอย่าง การวิเคราะห์การทดลองอันนี้ ถึงบทเรียนทางยุทธวิธีจากมัน และตรวจสอบทฤษฎีของท่านซ้ำอีกโดยอาศัย การทดลองนี้ นั่นคือภาระที่มาร์คซ์มอบหมายให้ตัวเอง “ การแก้ไข ” ประการเดียวที่มาร์คซ์คิดว่าจำเป็นต้องกระทำใน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต ์นั้น ท่านกระทำโดยยึดความเจนจัดทางปฏิวัติของชาวคอมมูนแห่ง ปารีสเป็นพื้นฐาน

คำนำครั้งสุดท้ายที่เขียนให้กับแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต  ฉบับ เยอรมันพิมพ์ครั้งใหม่ลงนามโดยผู้แต่งทั้งสองท่าน ได้เขียนเอาไว้ลงวันที่ 24 มิถุนายน 1872 ในคำนำครั้งนี้ผู้แต่งคือ คาร์ล มาร์คซ์ และเฟรเดอริค เองเกิลส์ กล่าวว่าโครงการของแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต  “ ล้าสมัยในรายละเอียดบางอย่าง ” และท่านกล่าวต่อไปว่า:

“ สิ่งหนึ่งซึ่งได้รับการพิสูจน์โดยเฉพาะจากคอมมูน ก็คือ ชนชั้นกรรมกร ไม่อาจยึดเอากลไกที่มีอยู่ก่อนแล้วมาใช้สนองจุดหมายของตน ”

ท่านผู้แต่งได้ยกข้อความที่อยู่ในอัญญประกาศย่อยมาจากหนังสือของมาร์คซ์ ชื่อ สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส ดังนี้ จะเห็นว่ามาร์คซ์และเองเกิลส์ถือว่าบทเรียนของคอมมูนแห่งปารีสมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวง ถึงกับท่าน นำเอามาแก้ไขไว้ใน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์

และก็การแก้ไขในส่วนสาระนี่เองแหละ ที่ถูกพวกฉวยโอกาสบิดเบือน หนำซ้ำความหมายของมันก็อาจไม่เป็นที่ประจักษ์แจ้งแก่ผู้อ่านแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต ์ส่วน มากด้วย เราจะได้กล่าวถึงการบิดเบือนดังกล่าวโดยละเอียดต่อไป ในที่ว่าด้วยการบิดเบือนโดยเฉพาะ ในที่นี้ขอตั้งข้อสังเกตเพียงว่า “ การตีความ ” คำกล่าวของมาร์คซ์ที่เพิ่งยกมาข้างต้น กลับกลายเป็นว่ามาร์คซ์เน้นแนวคิดแห่งพัฒนาการอย่างช้าๆ มิใช่เน้นการยึดอำนาจโดยการปฏิวัติ

ที่จริง แนวคิดที่ตรงกันข้ามต่างหากที่ถูกต้อง แนวคิดของมาร์คซ์ถือว่าชนชั้นกรรมาชีพจะต้องทำลาย จะต้องบดขยี้ “ กลไกรัฐที่มีอยู่ก่อนแล้ว ” มิใช่จำกัดตนเองอยู่แค่ยึดเอามาเท่านั้น

ในวันที่ 12 เมษายน 1871 อันอยู่ในช่วงที่มีการจัดตั้งคอมมูน มาร์คซ์ได้ เขียนถึง คูเกลมัน์ว่า:

“ หากท่านอ่านดูบทสุดท้ายของหนังสือข้าพเจ้าชื่อ Eighteenth Brumaire ท่านจะพบว่าข้าพเจ้าได้กล่าวว่า ความพยายามครั้งต่อไปของการปฏิวัติฝรั่งเศสจะต้องมิใช่การเปลี่ยนกลไกระบบ ราชการและทหารจากมือหนึ่งไปยังมือหนึ่งอีกต่อไปดังแต่ก่อน แต่จะต้อง บดขยี้ กลไกนั้น ” ( ตัวดำของมาร์คซ์เอง ตันฉบับคือ zerbrechen) “ และนี่คือเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการปฏิวัติของประชาชน ที่แท้จริงทุกครั้งบนภาคพื้นยุโรป และนี่คือสิ่งที่สหายพรรคที่กล้าหาญของเราในปารีสกำลังพยายามจะกระทำอยู่ ”

คำว่า “ บดขยี้กลไกระบบราชการและทหาร ” แสดงให้เห็นอย่างกระชับถึงบทเรียนสำคัญของลัทธิมาร์คซ์เกี่ยวกับภาระกิจของ ชนชั้นกรรมาชีพระหว่างการปฏิวัติในส่วนที่เนื่องด้วยรัฐ และบทเรียนอันนี้แหละมิเพียงแต่ถูกลืมโดยสิ้นเชิง แต่ยังถูกบิดเบือนจนเสียรูปจาก “ การตีความ ” ลัทธิมาร์คซ์ของเคาท์สกี้!

ในข้ออภิปรายที่อ้างข้างต้น มีสิ่งที่น่าสังเกตอยู่สองประการด้วยกัน

ประการแรกท่านจำกัดข้อสรุปของท่านอยู่แต่พื้นแผ่นดินยุโรป นี่เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ในปี 1871 เพราะอังกฤษยังคงเป็นรูปแบบประเทศทุนนิยมบริสุทธิ์ ไม่มีกลุ่มปกครองทางทหารและส่วนใหญ่แล้วไม่มีระบบราชการที่สลับซับซ้อน ด้วยเหตุนี้ มาร์คซ์จึงต้องตัดอังกฤษออกไปด้วยเป็นที่ที่การปฏิวัติ(กระทั่งการ ปฏิวัติของประชาชน) ดูจะเป็นไปได้และเป็นไปได้จริงๆ โดยปราศจากเงื่อนไขเบื้องต้นในการทำลาย “ กลไกระบบราชการและทหาร ” ปัจจุบัน ในปี 1917 อันเป็นยุคของสงครามจักรพรรดินิยมครั้งใหญ่ครั้งแรกนั้น ข้อสงวนของมาร์คซ์ดังกล่าวนับว่าไม่ต้องด้วยเหตุผลอีกต่อไปทั้ง อังกฤษและอเมริกา ซึ่งเป็นตัวแทน “ เสรีภาพ ” แองโกลแซกซอนของโลกทั้งมวล (ในความหมายที่ประเทศทั้งสองไม่มีกลุ่มปกครองทางทหารและระบบราชการ อันสลับซับซ้อน) ได้จมสู่ปลักอันโสมมนองเลือดแห่งสถาบันระบบราชการและทหาร ซึ่งครอบงำทุกสิ่งทุกอย่างไว้ใต้บาทาของมัน เพราะฉนั้นในปัจจุบันทั้งในอังกฤษ และอเมริกาเช่นกันที่ “ เงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการปฏิวัติของประชาชนที่แท้ จริง ” จะต้องบดขยี้ จะต้องทำลาย “ กลไกรัฐที่มีอยู่ก่อนแล้ว ” ( ซึ่งได้รับการสร้างเสริมจนสมบูรณ์ในประเทศทั้งสองระหว่างปี 1914-1917 จนบรรลุถึงมาตรฐานทั่วไปของ “ ยุโรป ”)

ประการที่สอง ควรพุ่งความสนใจโดยจำเพาะไปสู่คำกล่าวอันลึกซึ้งยิ่งของมาร์คซ์ที่ว่าการทำลายกลไกระหว่างราชการและทหารย่อมเป็น “ เงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการปฏิวัติของประชาชนที่แท้จริงทุกครั้ง ” แนวคิดเกี่ยวกับการปฏิวัติ “ ของประชาชน ” ออกเป็นเรื่องแปลกที่มาจากมาร์คซ์นี่เอง เป็นเหตุให้พวกนายเพลคานอฟและพวกเมนเชวิคในรัสเซียพากันประกาศว่า วลีนั้นเป็นเรื่อง “ ปากกาพาไป ” ของมาร์คซ์ ในความคิดของพวกเขานั้น พวกเขามองไม่เห็นว่าจะมีอะไรนอกเหนือจากการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนแล้วก็การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ แม้กระนั้นพวกเขาก็พากันตีความการปฏิวัติทั้งสองแบบนี้ไปในแนวที่ไร้ชีวิต จิตใจ

หากเราหยิบยกการปฏิวัติในศตวรรษที่ 20 เป็นตัวอย่าง เราต้อง ยอมรับว่า การปฏิวัติของปอร์ตุเกสและการปฏิวัติของตุรกีต่างก็เป็นการปฏิวัติ ของชนชั้นนายทุน อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติของทั้งสองประเทศมิใช่การปฏิวัติ “ ของประชาชน ” เนื่องจากมวลประชาชนส่วนใหญ่ข้างมากของประเทศทั้งสองมิได้เข้าร่วมด้วย อย่างแข็งขัน อย่างเป็นอิสระ พร้อมด้วยข้อเรียกร้องทางเศรษฐกิจ และการเมืองอย่างเป็นกิจลักษณะ ในทางกลับกัน , แม้การปฏิวัติของชนชั้น นายทุนรัสเซียปี 1905-07 จะไม่เผยให้เห็นความสำเร็จ “ อันเจิดจรัส ” ดังที่ตกอยู่กับการปฏิวัติของปอร์ตุเกสและตุรกีครั้งกระนั้น แต่ต้องนับว่าการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนรัสเซียเป็นการปฏิวัติ “ ของประชาชนที่แท้จริง ” โดยไม่ต้องสงสัย เพราะมวลประชาชนส่วนข้างมากของรัสเซีย ซึ่งเป็นคนชั้นล่างสุดของสังคมที่ตกอยู่ใต้การขูดรีดการกดขี่อย่างแสนสาหัส ได้ลุกขึ้นต่อสู้อย่างเป็นอิสระ และประทับรอยความพยายามของตนที่จะสร้างสังคมใหม่ตามทางของตนขึ้น แทนที่สังคมเก่าที่ถูกทำลาย ให้กับครรลองแห่งการปฏิวัติทั้งมวล

ยุโรปในปี 1871 นั้น ยังหามีประเทศใดไม่ในภาคพื้นยุโรปที่มีชนชั้นกรรมาชีพเป็นประชาชนส่วนข้าง มาก การปฏิวัติ “ ของประชาชน ” การปฏิวัติที่พัดพาประชาชนส่วนมากลงสู่กระแสธารอันเชี่ยวกรากของการปฏิวัติ , จะเป็นเช่นนั้นได้หากมันครอบคลุมทั้งชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นชาวนา ในขณะนั้นชนสองชั้นนี้แหละที่ประกอบเป็น “ ประชาชน ” ชนสองชั้นนี้ผลึกเข้าด้วยกันได้เพราะความจริงที่ว่า “ กลไกรัฐระบบราชการและทหาร ” ได้กดขี่ , เหยียบย่ำ , ขูดรีดพวกเขา ดังนั้น การบดขยี้กลไกนี้ การทำลายกลไกนี้ จึงต้องด้วยผลประโยชน์อันแท้จริงของ “ ประชาชน ” ต้องด้วยผลประโยชน์อันแท้จริงของคนส่วนมาก , ของกรรมกร และชาวนาส่วนใหญ่ และนี่คือ “ เงื่อนไขเบื้องแรก ” สำหรับการสมานพันธมิตรอย่างเสรี ระหว่างชาวนาผู้ยากจนที่สุดกับชนกรรมาชีพ ซึ่งถ้าปราศจากพันธมิตร ดังกล่าวประชาธิปไตยย่อมไม่คงทนถาวรและการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสังคมนิยมย่อมทำไม่ได้

เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าคอมมูนแห่งปารีสก็พยายามที่จะสร้างพันธมิตรเช่นว่า แม้คอมมูนจะมิอาจบรรลุถึงจุดมุ่งหมายนั้นได้ เนื่องจากสภาวะแวดล้อม หลายอย่างทั้งภายในภายนอกก็ตาม

ฉะนั้น ในการพูดถึง “ การปฏิวัติของประชาชนที่แท้จริง ” มาร์คซ์ย่อม ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถึงดุลย์กำลังทางชนชั้นที่มีอยู่จริงๆ ในประเทศส่วนมากของยุโรปในปี 1871และอีกด้านหนึ่งนั้นท่านก็กล่าวว่า “ การบดขยี้ ” กลไกรัฐ เป็นความจำเป็นเพื่อผลประโยชน์ของกรรมกรและชาวนา ว่าการบดขยี้ดังกล่าว จะผนึกชนชั้นทั้งสองเข้าด้วยกัน , พร้อมกันนั้นมันก็จะกำหนดภาระกิจร่วมกัน ให้กับชนชั้นทั้งสองที่จะต้องขจัด “ กาฝาก ” และแทนที่มันด้วยสิ่งใหม่กว่า สิ่งนั้นคืออะไรเล่า ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น