ตำนาน "ขุนคลัง" เมืองไทย ขออย่าง "ดร.ป๋วย" อีกสักครั้ง
มติชนรายวัน วันที่ 06 มีนาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10587
ป๋วย อึ้งภากรณ์ เมื่อแรกที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้รับการทาบทามเข้ารับตำแหน่งเจ้ากระทรวงการคลัง ต่างได้รับการจับตามองว่า น่าจะพอเป็นความหวัง ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ โดยเฉพาะในช่วงที่เพิ่งผลัดรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร
แต่แล้วชั่วเวลาเพียง 4 เดือนเศษ ว่าที่อัศวินม้าขาวในรัฐบาลขิงแก่ก็ไขก๊อกลาออกเสียแล้ว
ปัญหาทั้งหลายแหล่จึงยังกองอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเรื่องการจัดเก็บภาษีได้ไม่ตรงเป้า เรื่องการขาดทุนของแบงก์ชาติที่เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท ไหนจะเรื่องการถอนตัวของทุนต่างชาติ ฯลฯ
ถ้าย้อนกลับไปดูระบบการเงินการคลังของไทยเราจะพบว่ามีการบริหารจัดการตั้งแต่สมัยสุโขทัย เมื่อครั้งที่ยังจัดเก็บภาษีเป็นจังกอบ อากร ส่วย และฤชา ก่อนที่จะเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบจตุสดมภ์ ซึ่งมีขุนคลังเป็นหัวหน้าบังคับบัญชา และมีพระคลังสินค้าเป็นที่เก็บและรักษาส่วยสาอากร
พอบ้านเมืองมีการติดต่อทางการค้ากับต่างประเทศ ความจำเป็นในการจัดระบบเศรษฐกิจของประเทศก็มีมากขึ้น อย่างในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อรายจ่ายเพิ่มสูงกว่าก่อน ทรงพยายามหาวิธีเพิ่มรายได้แผ่นดินด้วยการให้ผูกขาดการเก็บภาษีอากร โดยอนุญาตให้เจ้าภาษี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนในประเทศไทยเป็นผู้จัดเก็บภาษีอากรจากราษฎรโดยตรง
ยิ่งเปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4 ความก้าวหน้าในระบบการเงินการคลังก็มากขึ้น มีการสร้างโรงกษาปณ์ขึ้นในพระบรมมหาราชวังเพื่อผลิตเหรียญเงินขึ้นใช้แทนเงินบาทพดด้วง
ส่วนที่มาของ "กระทรวงการคลัง" นั้นพอถือได้ว่าเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ เป็นที่ทำการของเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ และพระราชทานอำนาจแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงเป็นเสนาบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ และมีการตราพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายงบประมาณฉบับแรกของเมืองไทย
ขณะที่กรมพระคลังมหาสมบัติกล่าวได้ว่ามีฐานะเป็น "กระทรวง" มีใช้คำภาษาอังกฤษเพื่อเรียกอธิบดีว่า "มินิสเตอร์ ออฟ ฟิแนนซ์"
ครั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ควบตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติด้วย ได้มีการแก้ไขโครงสร้างของระบบภาษีอากร เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่สังคมยิ่งขึ้น จากแต่เดิมมาภาระภาษีตกอยู่แก่คนกลุ่มเดียวคือกสิกร
ขณะเดียวกันคณะกรรมการราษฎรได้พิจารณาปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ให้เหมาะสมกับกาลสมัย มีการประกาศใช้กฎหมาย 2 ฉบับ กฎหมายฉบับแรกให้แบ่งการบริหารราชการแผ่นดินเป็นกระทรวง มีรัฐมนตรีเป็นผู้ว่าการ อีกฉบับหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พ.ศ.2476 ให้มีกระทรวงรวม 7 กระทรวง และเปลี่ยนนามกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเป็นกระทรวงพระคลัง
ส่วนการแก้ไขชื่อ "กระทรวงพระคลัง" เป็น "กระทรวงการคลัง" มีขึ้นหลังพระยาพหลพลพยุหเสนาทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ
การดำเนินงานของกระทรวงการคลัง ได้ผ่านปัญหาอุปสรรค และวิกฤตการณ์ทางการเงินการคลังหลายครั้ง แต่ก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ จนประสบความสำเร็จเรียบร้อยตลอดมา ขณะเดียวกันกระทรวงการคลัง ได้พัฒนาปรับปรุงระบบงานของหน่วยงานในสังกัดให้ทันสมัย และทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลก ที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย
ว่ากันว่าที่ผ่านมาไทยเรามีขุนคลังฝีมือดีหลายต่อหลายคนที่สามารถนำพาประเทศ ให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแล้วครั้งเล่า
ขุนคลังที่ถือเป็นสุดยอดของประเทศ คือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
แม้จะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เพราะเคยสาบานตนไว้เมื่อตอนเป็นเสรีไทย ว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้หวังแสวงหาผลประโยชน์ จากการเป็นเสรีไทย แต่ ดร.ป๋วย มีบทบาทสำคัญมากต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ
ดร.ป๋วย เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2459 แม้ครอบครัวจะมีฐานะยากจน แต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา เขาสอบชิงทุนรัฐบาลไปศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ด้วยผลการเรียนดีเด่น ทำคะแนนเป็นที่หนึ่งของบรรดาผู้ได้เกียรตินิยม ทำให้ได้รับทุนลีเวอร์ฮูมส์ สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาเอกได้เลย แต่ประจวบกับเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาตัดสินใจพักการเรียน เพื่อทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของเสรีไทยในอังกฤษ
ดร.ป๋วยรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งเศรษฐกร กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้รับเงินเดือนประมาณ 1,600 บาท
พ.ศ.2496 ดร.ป๋วยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีส่วนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ต่างประเทศซึ่งมีปัญหามากในสมัยนั้น กลับมีเสถียรภาพมากขึ้น นักธุรกิจมั่นใจค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ ทำให้ราคาสินค้าลดลงและเงินสำรองระหว่างประเทศก็ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
คุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งคือ เป็นคนเชื่อมั่นใจสิ่งที่ถูก กล้าทัดทานผู้นำรัฐบาล ครั้งหนึ่ง ดร.ป๋วยปฏิเสธการที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขอให้ยกเลิกการปรับเงินจำนวนหลายล้านบาทจากสหธนาคารกรุงเทพจำกัด เนื่องจากกระทำผิดระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ ดร.ป๋วยยังคงยืนกรานความถูกต้อง ที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ปฏิบัติตามข้อเสนอของ ดร.ป๋วย
อีกครั้งเมื่อคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ ดร.ป๋วยเป็นผู้พิจารณากรณีที่ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พยายามเสนอให้บริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตนเองมีผลประโยชน์อยู่ด้วย เป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตรไทย ซึ่ง ดร.ป๋วยตรวจพบว่าบริษัทดังกล่าวไม่โปร่งใส จึงทำรายงานคัดค้าน ที่สุดคณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ ดร.ป๋วย
เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ ดร.ป๋วย ต้องไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2502 จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ได้โทรเลขไปถึง ดร.ป๋วยที่กรุงลอนดอน เสนอให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ ดร.ป๋วยปฏิเสธ จอมพลสฤษดิ์ก็แต่งตั้งให้ ดร.ป๋วยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่ง ดร.ป๋วยจึงควบคุมทั้งนโยบายด้านการเงินการคลังและงบประมาณของประเทศ ในขณะที่อายุได้เพียง 43 ปี
ตลอดเวลา 12 ปี ของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปลอดจากการเมืองมากที่สุด และเป็นยุคที่สามารถรักษาเสถียรภาพเงินตราไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง เงินบาทได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งในและนอกประเทศ ทำให้มีการค้าขายและการลงทุนเพิ่มขึ้น
ย้อนหลังไปเมื่อสักยี่สิบกว่าปีก่อน ประเทศเราเคยถังเกือบแตกเหมือนกัน เพราะมีการปฏิวัติรัฐประหารกันบ่อยครั้งมาก จนรัฐบาลที่จัดตั้งกันขึ้นมา ไม่สามารถบริหารราชการได้อย่างต่อเนื่องสมบูรณ์
รัฐบาลที่บักโกรกที่สุดรัฐบาลหนึ่งครั้งนั้นก็คือ รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในคลังแทบจะไม่เหลือสมบัติเอาไว้เลย
นายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นนักการคลังที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย ท่านดูแลนโยบายการคลังของประเทศอยู่หลายปีทีเดียว ก่อนที่จะมอบหมายต่อให้เดี่ยวมือสอง ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์ ซึ่งทำหน้าที่ รมช.ของท่านมาตลอดเวลาที่บริหารการคลัง
หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน อีกวิกฤตการณ์ที่ถือเป็นการรับรองความเป็นขุนพลเศรษฐกิจระดับพระกาฬของไทย คือ ในปี พ.ศ.2527 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นประสบกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เริ่มมาจากเผชิญวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ ถีบตัวขึ้นสูง อัตราเงินเฟ้อของประเทศสูงถึง 19% อัตราดอกเบี้ยแพง ค่าเงินบาทของประเทศไทยในอดีตผูกติดกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งมาก ยังผลให้ประเทศไทย ขาดดุลการค้ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 91,000 ล้านบาท ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง
เศรษฐกิจซบเซาเป็นเหตุให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย ฐานะของประเทศถึงขั้นทรุดโทรมอย่างหนัก นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เงินคงคลังติดลบอย่างชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อนถึง 30,000 ล้านบาท อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดต่ำลงเรื่อยๆ ในปี 2527 ขยายตัวเพียง 2.3% การส่งออกขยายตัว 4%
ถึงกระนั้นก็ตาม คำว่า "กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี" ทำให้คนไทยรวมทั้งรัฐบาลในขณะนั้นใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง เพราะมีมือดีอย่าง สมหมาย ฮุนตระกูล
สมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 5 สมัยของประเทศไทย เกิดวันที่ 15 พฤษภาคม 2461 ที่กรุงเทพฯ เริ่มทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นนายเวร ส่วนการคุมการปริวรรต (เงินตราต่างประเทศ) จนกระทั่งเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
นายสมหมายเป็นคนที่ยึดมั่นในหลักการ กล้าตัดสินในการทำงาน ถ้าคิดว่าถูกต้องโดยไม่เกรงผลกระทบใดที่จะตามมา เป็นคนพูดน้อยหากคำพูดเด็ดขาด
การตัดสินใจลดค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2527 จาก 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 23 บาท เป็น 27 บาท พร้อมทั้งวางแนวรักษาวินัยทางการคลังไว้อย่างเข้มงวด แม้จะทำให้ใครต่อใครก่นด่าต่างๆ นานา แต่ที่สุดส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศกระเตื้องและดีขึ้นตามลำดับภายในเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี
บุญชู โรจนเสถียร รัฐมนตรีการคลังคนเดียวที่มาจาก ส.ส. เป็นคู่ใจ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งผลงานรัฐบาลคึกฤทธิ์ที่โด่งดัง และเป็นตำนานการเมืองที่คนไทยยังจดจำไม่มีวันลืมคือ นโยบายผันเงินจากงบประมาณรายจ่าย เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่และสร้างงานในชนบท เป็นการยกระดับทางเศรษฐกิจของชาวชนบทให้ดีขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาสภาตำบลอย่างจริงจัง อันก่อให้เกิดความตื่นตัวครั้งสำคัญ เพราะนับเป็นครั้งแรกที่ส่วนท้องถิ่นจะได้มีโอกาสบริหารงบประมาณด้วยตัวเอง
บุญชู เจ้าของฉายา "ซาร์เศรษฐกิจ" เมื่อครั้งที่เป็นรัฐมนตรีคลัง และอำนวย วีรวรรณ เป็นปลัดกระทรวงเรียกได้ว่า เป็นช่วงเวลาของการทำงานที่ให้โอกาสคนหนุ่มๆ ทุกคนสามารถทำงานกันอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเอาอกเอาใจเจ้านาย
พอหมดยุคบุญชู โรจนเสถียร กระทรวงการคลังที่ทำงานในลักษณะของผู้เดินตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี
กระทั่งบุญชู โรจนเสถียร กลับมาเป็นรองนายกรัฐมนตรี และอำนวย วีรวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บทบาทของกระทรวงการคลังก็พลิกกลับขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
กล่าวกันว่า บุญมา วงศ์สวรรค์ เป็นอีกท่านที่มีความเก่งกาจเทียบเท่าอาจารย์ป๋วย ในศาสตร์สาขาเดียวกัน และเป็นที่ยอมรับนับถือในหมู่ "คนคลัง" เช่นเดียวกับอาจารย์ป๋วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งสองท่าน ได้เคยรับราชการในกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางในยุคเดียวกัน กล่าวได้ว่าเป็นเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิด
บุญมา เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล จบวิชาเศรษฐศาสตร์จากประเทศอังกฤษ เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เคยเป็นรองอธิบดีกรมบัญชีกลาง และย้ายไปเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลังประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลางใน พ.ศ.2500-2506 หลังจากนั้นก็ย้ายไปเป็นอธิบดีกรมศุลกากรแล้วไปเป็นปลัดกระทรวงการคลัง
ในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ.2516) ท่านบุญมา ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีท่านเยื่อ สุสายัณห์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นอกจากความรู้ความสามารถแล้ว ท่านบุญมา มีคุณสมบัติโดดเด่นในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต
บดี จุณณานนท์ เป็นอีกคนที่นับว่ามีฝีมือเป็นที่เคารพยกย่อง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง 28 พฤษภาคม 2539-15 ตุลาคม 2539
บดี จุณณานนท์ เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวน 7 คนของพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหลายสมัย กับคุณหญิงอรรถการีย์นิพนธ์
จบปริญญาโทด้านการบริหารที่มหาวิทยาลัยเวนสเตท สหรัฐอเมริกา เมื่อ 2503 เริ่มรับราชการตำแหน่งพนักงานงบประมาณโท สมัยที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้อำนวยการ นายบดีเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเมื่อปี 2526 แทน สุธี สิงห์เสน่ห์ ที่ลาออกไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
กล่าวได้ว่าเป็นคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดของสำนักงบประมาณยาวนานที่สุด คือ เป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณถึง 12 ปี ซึ่งใน 12 ปีนี้มีเพียงปี 2535 ที่ต้องระเห็จออกจากสำนักงบประมาณ เพราะมีคำสั่งให้ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ด้วยความที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณ จึงได้รับคำสั่งให้กลับมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นการควบสองตำแหน่งในเวลาเดียวกัน และอยู่ในสำนักงบประมาณจนเกษียณราชการ
พนัส สิมะเสถียร (18 มิถุนายน 2535-22 กันยายน 2535) อดีตลูกหม้อเก่าแก่อายุราชการ 33 ปี ของกระทรวงการคลัง
ช่วง 10 ปีในตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ทำให้กระทรวงนี้เป็นหน่วยงานที่มีความเป็นปึกแผ่น น่าเกรงขามตลอดมา ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐมนตรีคลังไปกี่คน ตำแหน่งของเขาก็ยังมั่นคง
มารดาของพนัส (จำเนียร) เป็นพี่น้องคลานตามกันมากับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
พนัสจบปริญญาเอกทางบัญชี ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เป็นคนที่ 3 ของไทย ต่อจากสุธีและพยอม สิงห์เสน่ห์ เขาเข้ารับราชการด้วยการเจริญรอยตาม ดร.ป๋วย โดยเริ่มทำงานครั้งแรกเมื่ออายุ 27 ปี ที่กรมบัญชีกลาง
พนัสเป็นแบบฉบับของข้าราชการไทยที่ไต่เต้าและเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการ คือ มีการศึกษาที่ดี และมีสายสัมพันธ์ที่ดี เป็นข้าราชการประจำของกระทรวงการคลังคนแรกที่ขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุดคือ ปลัดกระทรวง เมื่ออายุ 50 ปี
ในช่วงท้ายชีวิตราชการ นายอานันท์ ปันยารชุน เลือกเขาเป็นรัฐมนตรีคลังแทน ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์
นอกจากนี้ก็ยังมีขุนคลังอีกหลายคนที่นับว่ามือฉกาจ ช่วยพารัฐนาวารอดพ้นไปจากวิกฤตเศรษฐกิจที่รุมเร้าในแต่ละยุคสมัย เช่น นุกูล ประจวบเหมาะ ปลัดกระทรวงการคลัง ก็ถือว่าเป็นคนตงฉินที่สุดคนหนึ่ง
มาในยุคหลังๆ ต้องยอมรับว่ายังไม่มีใครมีผลงานเป็นที่โดดเด่น เมื่อกระทรวงการคลังมีปัญหา การจะหารัฐมนตรีคลังสักคน ต้องตงฉิน ยึดมั่นวินัยทางการเงินการคลัง ที่สำคัญคือสามารถทัดทานผู้นำรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีได้ มิฉะนั้นจะกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ
ท่ามกลางบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ระอุเช่นนี้ ถ้าได้คนอย่าง ดร.ป๋วย อีกสักครั้งก็จะดี เพราะถ้าพูดถึงคุณสมบัติแล้วครบถ้วน แม้กระทั่งทัดทานจนมีปากเสียงกับ จอมพลสฤษดิ์ ก็เคยมาแล้ว
ตำนาน "ขุนคลัง" เมืองไทยขออย่าง "ดร.ป๋วย" อีกสักครั้ง