คาร์ลมาร์กซ: จากปารีสสู่บรัสเซล |
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
หลังจากนี้เงื่อนไขต่างๆ พร้อมมาร์กซและรูเกก็พยายามผลักการออกวารสารจาบูเชอร์ ด้วยเผยแพร่แนวคิดเสรีนิยมฝรั่งเศสในเขตเยอรมนีเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในรัฐต่าง ๆ ของเยอรมัน และเพื่อการเชื่อมประสานกับนักคิดสังคมนิยมฝรั่งเศส ในระยะแรกรูเกได้พยายามชักชวนนักเขียนฝ่ายฝรั่งเศสเขียนบทความมาร่วม แต่ไม่ประสบผล ในที่สุดวารสารจาบูเชอร์ ก็ได้ออกฉบับแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๘๔๔ ซื่งมีเนื้อหาสาระไปในทางสังคมนิยมอย่างมาก และเรียกร้องให้เกิดการปฏิวัติในดินแดนเยอรมนี บทความและจดหมายที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร ส่วนมากเป็นงานเขียนของมาร์กซ ที่สำคัญก็คือ ว่าด้วยปัญหายิว และ บทนำเรื่องปรัชญาว่าด้วยสิทธิของเฮเกล นอกจากนี้ก็มีบทความที่ฟรีดริช เองเกลส์เขียนมาลง เช่นเรื่อง หัวข้อสำคัญว่าด้วยการวิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งเป็นบทความที่มาร์กซเห็นว่า เขียนได้ดีมาก
ปรากฏว่าวารสารจากบูเชอร์ถูกห้ามเผยแพร่ทันทีในปรัสเซีย และมีการตรวจยึดวารสารนี้จำนวนมากในบริเวณพรมแดน ในขณะลอบนำเข้าจากฝรั่งเศสสู่ปรัสเซีย นอกจากนี้ รัฐบาลปรัสเซียได้ออกหมายจับกองบรรณาธิการอันได้แก่ คาร์ล มาร์กซ อาโนลด์ รูเก และ ไฮน์ริช ไฮน์ ทำให้มาร์กซ ต้องมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองครั้งแรกในฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตามวารสารนี้นี้ก็ประสบความสำเร็จน้อยมาก แม้กระทั่งกลุ่มที่ก้าวหน้าในฝรั่งเศสไม่ได้ให้ความสนใจ และในที่สุด จูเลียส โฟรเบลก็ขอถอนตัว ซึ่งเป็นเพราะเขาไม่ต้องการเสียเงินเพิ่มจากการทำวารสาร ซึ่งมีผลสะเทือนน้อยเกินไป นอกจากนี้ โฟรเบลยังไม่เห็นด้วยกับแนวหนังสือที่โน้มไปในทางปฏิวัติสังคมมากเกินไป
แต่ปัญหาหลักที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของวารสารจาบูเชอร์มาจากการขัดแย้งระหว่างมาร์กซ กับ รูเกเนื่องจากรูเกล้มป่วยในระหว่างการจัดทำ มาร์กซกลายเป็นบุคคลหลักในการผลักดันและกำหนดเนื้อหาของวารสาร เมื่อรูเกฟ้น จากการป่วย วารสารได้ออกเผยแพร่ไปแล้วทำให้รูเกไม่พอใจ และเห็นว่า วารสารไม่ได้ออกตามแนวที่ตนต้องการ และที่รูเกไม่เห็นพ้องอย่างมากคือการที่ มาร์กซ กลายเป็นนักสังคมนิยมมากขึ้น และเริ่มใช้คำว่า คอมมิวนิสต์ ในงานเขียนของเขา ในขณะที่รูเกมีความเห็นโน้มเอียงไปในทางปฏิรูป ต้องการให้เยอรมนีเป็นรัฐประชาธิปไตย ไม่ต้องการการปฏิวัติของกรรมาชีพ และไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องคอมมิวนิสต์ ดังนั้นเมื่อวารสารประสบปัญหาทั้งในด้านการเงิน และความขัดแย้งในกองบรรณาธิการ จึงได้ปิดตัวลงหลังจากที่ออกได้ฉบับเดียว
ความขัดแย้งทางความคิด ระหว่างมาร์กซกับรูเก ยังเห็นได้ชัดเมื่อเกิดกรณีการก่อการจลาจลในแคว้นไซลีเซียของปรัสเซีย ทั้งนี้เนื่องจากกรรมกรทอผ้าในไซลีเซีย นับพันคนได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.๑๘๔๔ และได้บุกเข้าไปทำลายเครื่องจักร รุ่นใหม่ที่จะเอามาใช้ในการผลิต ทั้งนี้เพราะกรรมกรเห็นว่า การนำเครื่องจักรเหล่านี้จะนำมาซึ่งการจ้างงานน้อยลง ซึ่งจะทำให้กรรมกรตกงาน หรือถูกบีบให้ลดค่าจ้างแรง งานลง ปรากฏว่ารัฐบาลปรัสเซีย ของกษัตริย์เฟรเดอริกวิลเฮล์ม ที่ ๔ ได้ใช้ความรุนแรงปราบปรามกรรมกรอย่างป่าเถื่อน รูเกได้เขียนบทความเรื่อง กษัตริย์ปรัสเซียและการปฏิรูปสังคม วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลปรัสเซียลงในหนังสือพิมพ์วอร์วาท ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของชาวเยอรมันลี้ภัย โดยรูเกไม่เห็นด้วยกับการปราบปราม แต่ก็ไม่เห็นว่า การต่อสู้ของกรรมกรเยอรมันจะบรรลุผล โดยอธิบายว่า การต่อสู้ของกลุ่มกรรมกรไซลีเซีย ไม่มีความสำคัญใดๆ ทั้งนี้เพราะการปฏิวัติสังคมในเยอรมนีไม่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเยอรมนีมี รากฐานจิตสำนึกทางการเมืองที่ ล้าหลังเกินไป การปฏิวัติทางสังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดการปฏิวัติทางการเมืองแบบประชาธิปไตยแล้ว เช่นที่เกิดในอังกฤษและฝรั่งเศส
มาร์กซได้นำประเด็นนี้มานำเสนอเช่นกัน โดยเขียนบทความเรื่อง วิจารณ์บทความเรื่องกษัตริย์ปรัสเซียและการปฏิรูปสังคม ลงในหนังสือพิมพ์วอร์วาท ปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ.๑๘๔๔ มาร์กซให้ความสำคัญแก่การกบฏของชนชั้นกรรมกรในครั้งนี้อย่างมาก โดยเปรียบเทียบกับการลุกขึ้นสู้ในลักษณะเดียวกันของชนชั้นกรรมกรอังกฤษ ประเด็นสำคัญที่มาร์กซ เห็นแตกต่างจากรูเกก็คือ การปฏิวัติทางการเมืองและสังคมไม่สามารถจะแยกจากกันได้ โดยอธิบายว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า จิตสำนึกทางการเมือง ที่เป็นกลางของสังคม มีแต่จิตสำนึกทางชนชั้น ที่สังกัดชนชั้นหนึ่ง ในการต่อสู้ของกรรมกรไซลีเซียได้ชี้ให้เห็นจิตสำนึกทางชนชั้นที่สูงเด่น และเป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่า ชนชั้น กรรมาชีพเยอรมนีนั้น สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ มาร์กซสรุปว่า
การปฏิวัติทุกครั้งเป็นการปฏิวัติสังคม ตราบเท่าที่มันได้รื้อทำลายสังคมเก่าลง
การปฏิวัติทุกครั้งเป็นการปฏิวัติทางการเมือง ตราบเท่าที่มันทำลายอำนาจทางการเมืองแบบเก่า
การปฏิวัติโดยทั่วไปถือเป็นการดำเนินการทางการเมือง จากการที่มันโค่นอำนาจทั้งปวงที่ดำรงอยู่ และล้มเลิกความสัมพันธ์แบบเดิมทั้งหมดที่เคยมีมาแต่สังคมนิยมไม่อาจปรากฏเป็นจริงได้ ถ้าหากไม่มีการปฏิวัติ
แม้ว่าวารสารจูบาเชอร์จะปิดตัว และความสัมพันธ์ระหว่างมาร์กซ กับรูเกจะเสื่อมลง แต่มาร์กซยังคงรักษามิตรภาพอันดีกับไฮน์ริช ไฮน์ ซึ่งกลายเป็นแขกมาเยี่ยมและสนทนากับมาร์กซเสมอ ไฮน์เป็นกลุ่มนักคิดสังคมนิยมแบบแซงซิ-มองต์ และชื่นชมสังคมนิยมฝรั่งเศส ในขณะที่มาร์กซก็สนใจและศึกษาสังคมนิยมฝรั่งเศสอย่างมาก นอกจากนี้กลุ่มเพื่อนที่สนิทกับมาร์กซ ระหว่างอยู่ปารีสก็คือ หลุย บลอง ปิแอร์ ปรูดอง และ ไมเคิล บากูนิน ซึ่งทั้งหมดเป็นนักคิดสังคมนิยม เช่นกัน
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.๑๘๔๔ มาร์กซก็ได้ลูกคนแรกเป็นหญิง ซึ่งมาร์กซให้ชื่อว่า เจนนี เช่นกัน ภรรยาของมาร์กซได้นำเอาลูกสาวคนแรกนี้กลับไปยังเมืองเทรียร์เป็นเวลา ๒ เดือน เพื่อไปให้แม่ของเธอและญาติของมาร์กซได้เห็น ในระหว่างที่ภรรยาไม่อยู่ มาร์กซได้ใช้เวลาในปารีสค้นคว้าเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างหนัก แล้วเรียบเรียงหนังสือชื่อ ต้นร่างปรัชญาและเศรษฐศาสตร์ (Economic and Philosophical Manuscripts) ในหนังสือเล่มนี้ มาร์กซได้ให้ความหมายด้านที่เป็นแนวคิดมนุษยธรรมของลัทธิสังคมนิยม และอธิบายรากฐานของเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เป็นหัวใจของทุนนิยม เช่นเรื่อง ค่าจ้างแรงงาน ที่ดิน ทุน ความสัมพันธ์ระหว่างทุนและแรงงาน และ กำไร เป็นต้น นอกจากนี้ หนังสือนี้ยังได้เสนอข้ออภิปรายเกี่ยวกับกรรมสิทธิเอกชน และให้คำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะทางประวัติศาสตร์ ทางสังคมและการเมืองของคอมมิวนิสต์ ในส่วนสุดท้ายของหนังสือ ก็เป็นส่วนของการวิจารณ์รากฐานปรัชญาของเฮเกล ปรากฏว่าหนังสือนี้ไม่ได้รับการตีพิมพ์จนกระทั่ง ค.ศ.๑๙๓๒ แต่กระนั้น ก็เป็นที่เข้าใจว่า หนังสือเล่มนี้คือรากฐานที่จะนำไปขยายเป็นเรื่อง ทุน(Kapital) ซึ่งจะเป็นหนังสือเล่มสำคัญของมาร์กซต่อไป
นอกจากการค้นคว้าเพื่อเขียนหนังสือนี้แล้ว ระหว่างที่อยู่ที่ปารีสนี้เอง ที่มิตรภาพระหว่างมาร์กซ และเองเกลส์กระชับแน่นแฟ้น และทำให้คนทั้งสองกลายมาเป็นมิตรสนิทกันอย่างยิ่งต่อมา เองเกลส์นั้น เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๘๒๐ ที่เมืองบาร์เมน ในแคว้นรูห์ของปรัสเซีย เขาเป็นลูกชายคนโตของนักธุรกิจที่ร่ำรวย บิดาของเขาเปิดโรงงานปั่นด้ายที่บาร์เมน และต่อมาก็ได้ไปเปิดโรงงานอีกแห่งที่เมืองแมนเชสเตอร์ในอังกฤษ เองเกลส์ได้รับการศึกษาอย่างดี และได้มีประสบการณ์ในการทำงานใน โรงงานของบิดาด้วยเช่นกัน เมื่อเริ่มเป็นหนุ่มเขาชอบเขียนกลอน และใช้เวลาในการเขียนกลอนมากยิ่งกว่ามาร์กซ จนใน ค.ศ.๑๘๓๘ เขาถูกส่งมาบริหารงานโรงงานที่บาร์เมน ในระยะนี้เองที่เองเกลส์เริ่มได้รับอิทธิพลแนวคิดเสรีนิยมจากกลุ่มเยาวชนลัทธิเฮเกล และได้อ่านหนังสือพิมพ์ไรช์ ใน ค.ศ.๑๘๔๒ เขาได้ย้ายกลับไปรับผิดชอบงานที่แมนเชสเตอร์ ระหว่างทางเขาจึงได้แวะเยี่ยมบรรณาธิการวารสารไรน์ และพบกับมาร์กซมาแล้ว แต่การพบกันในครั้งนั้น ยังไม่ได้ทำให้คนทั้งสองคุ้นเคยกัน เมื่อกเองเกลส์ลับไปยังอังกฤษ เขาก็สนใจปรัชญาของฟอยเออร์บาคเช่นกัน และยังเขียนบทความมายังหนังสือพิมพ์ไรช์เสมอ จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ถูกปิด ก็ได้เขียนบทความมายังจาบูเชอร์ต่อ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมข้อมูลเขียนเรื่อง สถานะของชนชั้นกรรมกรในอังกฤษ ด้วย
เองเกลส์เดินทางมายังปารีสปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ.๑๘๔๔ และพบกับมาร์กซที่ร้านกาแฟชื่อ คาเฟ่เดอลาเรเจนเซ่ ในวันที่ ๒๘ สิงหาคม จากนั้น ทั้งสองคนเริ่มงานค้นคว้าและเขียนบทความร่วมกัน คือเรื่อง วิพากษ์ ว่าด้วยการวิพากษ์เกณฑ์สำคัญ เพื่อวิพากษ์ความคิดของบรูโน บาวเออร์ เพราะแม้ว่าบาวเออร์จะมาจากกลุ่มเฮเกลฝ่ายซ้าย และคัดค้านแนวคิดจิตนิยมของเฮเกล แต่บาวเออร์ก็เชื่อว่า ประวัติศาสตร์สร้างโดยผู้นำ หรือคนที่มีลักษณะพิเศษ มาร์กซ และเองเกลส์คัดค้านความคิดเช่นนี้ และยืนยันว่า ชนชั้นกรรมาชีพคือ ผู้สร้างประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง
ในระหว่างนี้ รัฐบาลปรัสเซีย ได้บีบคั้นกลุ่มเยอรมันลี้ภัย โดยพยายามที่จะเสนอให้ฝรั่งเศสจับกุมตัวมาร์กซ และ ชาวเยอรมันก้าวหน้าอื่น ๆ แล้วส่งตัวให้ปรัสเซียในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ดังนั้น ในวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ.๑๘๔๕ กิโซต์ นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศสจึงสั่งปิดหนังสือพิมพ์วอร์วาท และสั่งเนรเทศผู้นำกลุ่มผู้นำเยอรมันลี้ภัย เช่น มาร์กซ เฮนริช ไฮน์ และ อาร์โนล รูเก ดังนั้น วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ มาร์กซ จึงออกเดินทางจากปารีสมายังเมืองลิเอจในเบลเยี่ยม และเดินทางต่อไปยังกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของประเทศ โดยมีผู้ร่วมเดินทางคือ ไฮน์ริช บูร์เกอร์(Heinrich Burgers) นักหนังสือพิมพ์ฝ่ายก้าวหน้าอีกคนหนึ่ง
กรุงบรัสเซลส์ เมื่อ ค.ศ.๑๘๔๕ ยังคงเป็นเมืองเล็ก แต่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในด้านอุตสาหกรรม ประเทศเบลเยี่ยมเพิ่งจะได้เอกราชโดยแยกตัวมาจากเนเธอแลนด์เมื่อ ค.ศ.๑๘๓๐ อำนาจทางการเมืองในเบลเยี่ยมยังอยู่ในมือของกลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยมีพรรคเสรีนิยมเป็นฝ่ายค้านที่สำคัญ แต่กระนั้น เบลเยี่ยมก็เป็นสวรรค์สำหรับผู้ลี้ภัยทางการเมือง จากการที่รัฐบาลเบลเยี่ยม ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างมาก มาร์กซและเจนนี ต้องหาบ้านเช่าและย้ายที่อยู่หลายครั้ง เนื่องจากเจนนีกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง จนถึงเดือนพฤษภาคม จึงได้บ้านที่ถนนลาอิยองเซ่ ซึ่งเป็นสถานที่มั่นคงสำหรับการอยู่อาศัยพอสมควร จากนั้น แม่ของเจนนีก็ส่งคนรับใช้เก่าแก่ ชื่อ เฮเลน เดมุธ (Helene Demuth) มาอยู่ด้วย เฮเลนมาจากชนบทบริเวณเมืองเทรียร์ นั้นเองและอยู่กับครอบครัวเวสฟาเลนของเจนนีตั้งแต่เธออายุได้ ๑๑ ขวบ แต่ในขณะที่มาอยู่กับมาร์กซและเจนนีที่บรัสเซลส์ เฮเลนอายุได้ ๒๕ ปีแล้ว
มาร์กซได้ทำเรื่องขออาศัยอยู่ในเบลเยี่ยม และได้รับการอนุญาต เมื่อตั้งหลักแหล่งได้แล้ว เองเกลส์ก็ย้ายตามมาอยู่ในบรัสเซลส์ โดยมาเช่าบ้านใกล้กับมาร์กซ นอกจากนี้ในเบลเยี่ยมยังมีนักสังคมนิยมคนอื่นอีกหลายคนที่สนิทสนมกับครอบครัวมาร์กซ เช่น โมเสส เฮส วิลเฮล์ม เวทลิง และ คาร์ล ไฮนเซน(Karl Heinzen) เป็นต้น ทำให้ชีวิตของครอบครัวมาร์กซใน เบลเยี่ยม ค่อนข้างจะราบรื่น ในระยะนี้ มาร์กซก็เริ่มทำงานค้นคว้า และได้เขียนหนังสือ เรื่องข้อเสนอว่าด้วยฟอยเออร์บาค (Thesis on Feuerbach) จากนั้น ต่อมา มาร์กซ และเองเกลส์ก็ทำงานค้นคว้าร่วมกัน และเขียนเรื่องอุดมการณ์เยอรมัน (The German Ideology) ซึ่งกลายเป็นงานชิ้นเอก
ในระยะที่อยู่ที่บรัสเซลส์นี้ เรื่องข้อเสนอว่าด้วยฟอย เออร์บาค เป็นครั้งแรกที่มาร์กซนำความคิดของฟอยเออร์บาค มาวิพากษ์อย่างจริงจัง มาร์กซเสนอว่า แนวคิดวัตถุนิยมทั้งมวลที่มีการนำเสนอ รวมทั้งวัตถุนิยมของฟอยเออร์บาค ก็คือการอธิบายโลก แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ การปฏิบัติที่เป็นจริง มาร์กซจึงเสนอในข้อสรุปสำคัญตอนหนึ่งว่า “นักปรัชญาทั้งหลายต่างก็อธิบายโลกต่างๆกัน แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงโลก”
หลังจากที่เขียนเรื่องนี้ ในเดือนกรกฏาคม ค.ศ.๑๘๔๕ มาร์กซ ได้เดินทางไปกับเองเกลส์ ข้ามไปยังอังกฤษ เพื่อเยี่ยมเมืองแมนเชสเตอร์เป็นเวลา ๓ เดือน มาร์กซใช้เวลาที่ห้องสมุดเมืองแมนเชสเตอร์ ศึกษาเพิ่มเติมงานของเขียนของนักวิชาการอังกฤษหลายคน
หลังจากนั้น ทั้ง ๒ คนก็เดินทางมาเยือนกรุงลอนดอน ในขณะนั้นกลุ่มขบวนการชาร์เตอร์ (Charter) ของอังกฤษกำลังก่อตัว ซึ่งขบวนการนี้จะมี เป้าหมายในการเรียกร้องสิทธิทางกฏหมายให้กับประชาชนระดับล่างในอังกฤษ มาร์กซมีโอกาสได้พบกับจอร์จ เจ. ฮาร์เนย์(George J. Harney) หัวหน้าขบวนการชาร์เตอร์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการของวารสารดาวเหนือ ของกรรมกรนอกจากนี้เองเกลส์ได้แนะนำให้มาร์กซ รู้จักกับหัวหน้าขบวนการกรรมกรของเยอรมนี ที่ลี้ภัยอยู่ในอังกฤษ ในระหว่างที่มาร์กซไปอังกฤษนี้เอง เจนนีกลับไปยังเมืองเทรียร์ และคลอดลูกคนที่สองเมื่อเดือน กันยายน ค.ศ.๑๘๔๕ เป็นหญิงอีกเช่นกัน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ลอรา
เมื่อมาร์กซและเองเกลส์เดินทางกลับมายังเบลเยี่ยม ก็ได้เริ่มงานเขียนเรื่อง อุดมการณ์เยอรมัน เพื่อเสนอข้อถกเถียงเกี่ยวกับกลุ่มลัทธิเฮเกลฝ่ายซ้ายทั้งมวล งานชิ้นนี้เป็นงานในเชิงปรัชญาวัตถุนิยมที่ขยายต่อจาก ข้อเสนอว่าด้วยฟอยเออร์บาค และเป็นงานที่ทบทวนรากฐานทางปรัชญาของ เยอรมัน ตั้งแต่เฮเกล บาวเออร์ มาจนถึงฟอยเออร์บาค หนังสือเล่มนี้กลายเป็นงานเขียนที่หนาเป็นร้อยหน้า แต่ในส่วนท้ายที่ว่าด้วยแนวคิดของฟอยเออร์บาคนั้น ไม่ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม งานเขียนชิ้นนี้ถือว่าเป็นงานเขียนสำคัญที่วางรากฐานความคิดวัตถุนิยมวิภาษวิธี และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ของ มาร์กซและเองเกลส์ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงปรัชญาวัตถุนิยมมาอธิบายวิวัฒนาการทางสังคมและการปฏิวัติทางสังคมของชนชั้น กรรมาชีพ และการสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ จากงานเขียนนี้ จะเห็นได้ว่า แนวคิดทางปรัชญาของลัทธิมาร์กซ ได้ก่อรูปขึ้นอย่างสมบูรณ์
ระหว่างที่มาร์กซค้นคว้างานเขียนชิ้นนี้ ได้ข่าวมาว่า ทางการตำรวจปรัสเซียยังคงกดดันต่อรัฐบาลเบลเยี่ยม ที่จะให้จับตัวมาร์กซ ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ดังนั้น ในเดือนธันวาคม ค.ศ.๑๘๔๕ มาร์กซ จึงสละสัญชาติปรัสเซีย
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น