Pages

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์สมัยใหม่


แนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์สมัยใหม่

             การเกิดขึ้นของแนวคิดวิชารัฐประศาสนศาสตร์สมัยใหม่นั้น ได้มีการนำแนวคิดทางการจัดการมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการท้าทายทฤษฎียุคดั้งเดิม โดยนักวิชาการที่ทำการโต้แย้งได้พัฒนาแนวคิดเป็นศาสตร์แห่งการบริหารรวมถึงกลุ่มพฤติกรรมศาสตร์ ทำให้การศึกษารัฐประศาสนศาสตร์มีการทบทวนองค์ความรู้เอกลักษณ์ของวิชา และมีการพัฒนาให้เป็นศาสตร์มากขึ้น ผลที่เกิดขึ้น คือ การรวมกรอบแนวคิด ระหว่างกรอบแนวคิด การบริหารเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง และการบริหารเป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์การบริหาร มารวมกับทฤษฎีความสอดคล้องกับความต้องการของสังคม ดังนั้น กรอบแนวคิดใหม่จึงครอบคลุม ในเรื่องของ การเมือง สังคม พฤติกรรมศาสตร์ และความต้องการของสังคม แนวคิดดังกล่าวนักวิชาการบางท่านเรียกว่า ยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ ในบทนี้ผู้วิจัยขอนำเสนอการกำเนิดและแนวคิดของรัฐประศาสนศาสตร์
             สมัยใหม่ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ รวมถึงเข้าสภาวการณ์ของการบริหารงานภาครัฐในปัจจุบันและอนาคตที่มาของแนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์สมัยใหม่ การเสนอทฤษฎีและผลงานการวิจัยของนักคิดในกลุ่มพฤติกรรมศาสตร์ที่โต้แย้ง แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ในยุคดั้งเดิม (ก่อนส่งครามโลกครั้งที่ 2) นั้น มีผลทำให้นักรัฐประศาสนศาสตร์เสื่อมความศรัทธาและเริ่มเกิดความไม่แน่ใจในความถูกต้องเหมาะสมของทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ยุคดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีที่มาท้าทายก็ไม่เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการเหมือนสมัยดั้งเดิมเช่นกัน สถานภาพของวิชารัฐประศาสนศาสตร์ จึงตกอยู่ในสภาพที่สับสน และขาดเอกลักษณ์ของลักษณะวิชาโดยในช่วง ค.ศ. 1960-1970 ได้เกิดวิวัฒนาการที่สำคัญ 2 ประการขึ้น ในวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานสำหรับการกำเนิดวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในสมัยใหม่ ดังนี้ (พิทยา บวรวัฒนา, 2541, หน้า 126-127)
             1. นักวิชาการรุ่นใหม่ทางรัฐประศาสนศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา ได้รวมตัวกันและจัดการประชุมที่ Minnowbrook มหาวิทยาลัย Syracuse University ขึ้นในปี ค.ศ. 1986 เพื่อร่วมปรึกษาและกำหนดปรัชญาพื้นฐานของวิชารัฐประศาสนศาสตร์เสียใหม่ ต่อมาเรียกแนวคิดใหม่ครั้งนี้ว่า รัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ (the new public administration)
             2. ในวงการวิชาการด้านรัฐประศาสนศาสตร์ได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติทางพฤติกรรมศาสตร์ (behavioral revolution) ทำให้เนื้อหาและวิธีการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปมากตามปรัชญาของพฤติกรรมศาสตร์ นักวิชาการจึงหันมาศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ร่วมกับวิธีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ ประยุกต์เป็นทฤษฎีระบบ (systems theory) ในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านรัฐประศาสนศาสตร์เชิงเปรียบเทียบนโยบายสาธารณะทางเลือกสาธารณะและอื่น ๆ
             วิวัฒนาการทางรัฐประศาสนศาสตร์ทั้งสองสายข้างต้น ถือเป็นแนวการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์สมัยใหม่ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา นักรัฐประศาสนศาสตร์ได้ยึดแนวการศึกษาดังกล่าวนี้เป็นกระแสหลักจนถึงปัจจุบัน (สัมฤทธิ์ ยศสมศักดิ์, 2547, หน้า 225-226)
             ในขณะที่ จุมพล หนิมพานิช (2548, หน้า 98-101) เห็นว่า ในช่วงปลายศตวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 ได้มีการเพิ่มแนวทางการจัดการในภาครัฐใหม่ เพื่อตอบสนองการที่ “ตัวแบบการบริหารแบบดั้งเดิม” หรือ “แบบประเพณีนิยม” ที่ไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภาครัฐได้ในแง่ดังกล่าว แนวทางนี้จึงช่วยแบ่งเบาปัญหาที่เกิดขึ้นจาก “ตัวแบบการบริหารแบบดั้งเดิม” หรือ “แบบประเพณีนิยม” โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้
             1. มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใน “ตัวแบบการบริหารรัฐกิจแบบดั้งเดิม” หรือ “แบบประเพณีนิยม” จากการให้ความสำคัญในเรื่องของปัจจัยนำเข้า และกระบวนการมาเป็นการให้ความสนใจในเรื่องของการทำให้ผลลัพธ์สัมฤทธิผล รวมทั้งการที่ตัวผู้บริหารจะต้องมีความรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานของตนเองมากขึ้น
             2. ได้มีการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะทำให้การจัดองค์การ บุคลากร การบริหารงานบุคลากร หรือการว่าจ้างและเงื่อนไข หรือสภาพการณ์มีความยืดหยุ่นคล่องตัวมากขึ้น
             3. วัตถุประสงค์ขององค์การและบุคคลได้มีการกำหนดไว้ในลักษณะที่มีความชัดเจน ขณะเดียวกันสามารถวัดหรือประเมินผลการปฏิบัติงานได้ง่าย เพราะมีตัวดัชนีหรือตัวชี้วัดระบุหรือแสดงไว้ นอกจากนี้ ยังมีการประเมินแผนงานที่มีระบบ นอกเหนือไปจากการเห็นหรือให้ความสำคัญในเรื่องของ 3 E’s (Triple E’ Administrative Trinity) อันได้แก่
             E แรก คือ การประหยัด (economy)
             E ที่สอง คือ ความมีประสิทธิภาพ (efficiency)
             E ที่สาม คือ ความมีประสิทธิผล (effectiveness)
             4. ที่ปรึกษาระดับอาวุโสได้รับการคาดหวังว่าจะมีความผูกพันหรือมีความรับผิดชอบ
ในการทำงานเมื่อตั้งรัฐบาลมากกว่าจะมีการวางตัวเป็นกลาง
             5. รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องเผชิญกับการทดสอบทางการตลาด
             6. มีการลดบทบาทหน้าที่ของรัฐในรูปของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization)
             ในแง่ของหลักการ รัฐประศาสนศาสตร์สมัยใหม่ได้รับการนิยามว่า เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นใหม่ที่เป็นทางเลือก โดยได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เวลาที่มีการนำแนวทางนี้ไปใช้ ได้มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายอาทิ บางคนมองหรือเห็นว่าแนวทางนี้เสนอแนวทางใหม่ของการทำหน้าที่ทางการบริหารเฉพาะงานในกรณีของภาครัฐ ขณะที่บางคนมองหรือคิดว่าการนำแนวทางนี้มาใช้ เป็นเรื่องของการลอกเลียนลักษณะที่ไม่ดีของภาคเอกชนมาใช้โดยไม่ได้พิจารณาถึงความแตกต่างพื้นฐานของสภาพแวดล้อมของภาครัฐที่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากภาคเอกชนในขณะที่บางคนมองว่า แนวทางของรัฐประศาสนศาสตร์สมัยใหม่ ดูจะขัดกันกับการให้บริการลักษณะแบบดั้งเดิม หรือแบบประเพณีนิยม โดยคำถามที่ว่าการขัดกันหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกันนั้นขัดกันหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในเรื่องอะไร คำตอบ คือ ขัดกันหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในเรื่องของการส่งมอบบริการ นอกจากนี้ยังไม่มีลักษณะของประชาธิปไตยในขณะที่ทางด้าน “รัฐประศาสนศาสตร์แบบดั้งเดิม” เห็นว่า ตัวแบบของรัฐประศาสนศาสตร์แบบดั้งเดิม ก็มีข้อดีหรือมีส่วนที่ดี อาทิ การมีมาตรฐานทางจริยธรรมที่สูงในการให้บริการของรัฐ ในขณะที่ แนวคิดรัฐประศาสนศาสตร์สมัยใหม่ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดเอกลักษณ์ และไม่มีกรอบแนวคิดที่ชัดเจนของตนเองนอกจากนี้ยังได้รับการโต้แย้งเกี่ยวกับข้อสมมติฐานต่าง ๆ อีกด้วยจากการพัฒนาไปสู่แนวคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์สมัยใหม่ สามารถอธิบายสรุปแนวคิดที่สำคัญดังกล่าว เพื่อทำให้ได้เห็นภาพและทิศทางที่สำคัญในอนาคต

บรรณานุกรม

ยุทธพงษ์ ลีลากิจไพศาล. (2552). พัฒนาการและลักษณะของหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ระดับปริญญาตรีในประเทศไทย. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

จุมพล หนิมพานิช. (2548). การบริหารจัดการภาครัฐใหม่: หลักการ แนวคิด และกรณีตัวอย่างของไทย. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

พิทยา บวรวัฒนา. (2541). รัฐประศาสนศาสตร์: ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา (ค.ศ. 1887-ค.ศ. 1970) (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น