วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555


ความเป็นสหวิทยาการของรัฐประศาสนศาสตร์

             รัฐประศาสนศาสตร์มีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ คือ การเป็นสหวิทยาการ ซึ่งประกอบไปด้วยศาสตร์ต่าง ๆ ใช้ร่วมในการศึกษา ตลอดจนอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทางรัฐประศาสนศาสตร์ โดยในทัศนะของ Chandler (1989, pp. 639-641) เห็นว่า ควรประกอบไปด้วย วิชารัฐศาสตร์ วิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาวิทยาการจัดการ วิชาการบริหารธุรกิจวิชาสังคมวิทยา วิชาจิตวิทยา วิชามนุษยศาสตร์ และวิชานิติศาสตร์ ซึ่งจะมีความสมบูรณ์ครอบคลุมในการศึกษา
             ในขณะที่ McCurdy (1986, pp. 17-21) เห็นว่า จากพัฒนาการทางรัฐประศาสนศาสตร์สามารถอธิบายได้ว่าพื้นฐานแนวคิดหลักในการศึกษาประกอบไปด้วย 4 สำนักด้วยกัน คือ
             1. สำนักที่สนใจศึกษาแบบดั้งเดิม กล่าวคือ สนใจศึกษาสังคมวิทยา จิตวิทยา โดยเน้นและปรับใช้ในเรื่องของความสัมพันธ์ของมนุษย์ และสนใจในรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์โดยนำมาใช้ในการปฏิรูประบบ
             2. สำนักที่สนใจศึกษาในเชิงพฤติกรรม โดยนำมาใช้ศึกษาถึงระบบราชการทฤษฎีองค์การ การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ และการพัฒนาองค์การ
             3. สำนักที่สนใจศึกษาในเชิงเหตุผลนิยม โดยนำวิชาเศรษฐศาสตร์และการบริหารธุรกิจมาใช้ศึกษาในเรื่องของการวิเคราะห์นโยบาย และการจัดการ
             4. สำนักที่สนใจศึกษาในเชิงการเมือง โดยสนใจในเรื่องการเมืองและกฎหมายโดยศึกษาในการนำนโยบายไปปฏิบัติ การบริหารงานบุคคลในระบบราชการ การจัดทำงบประมาณ และการบริหารงานในท้องถิ่น
             จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า รัฐประศาสนศาสตร์มีการนำความรู้ที่หลากหลายมาประยุกต์ใช้ในวิชาของตนเอง หรือนำวิชาเหล่านั้นมาประกอบเข้ากันเป็นลักษณะของสหวิทยาการ และถือว่าเป็นสังคมศาสตร์ประยุกต์ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาทางการบริหารในองค์การให้มีความสามารถที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การเป็นสหวิทยาการของรัฐประศาสนศาสตร์ทำให้จำเป็นต้องนำศาสตร์อื่น ๆ และนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาในขอบข่ายของการศึกษาวิชาทางรัฐประศาสนศาสตร์ ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาในศาสตร์อื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์คณิตศาสตร์และสถิติ เศรษฐศาสตร์หรือแม้กระทั่งการตลาด และการประชาสัมพันธ์รวมถึงในปัจจุบันมีความสนใจอย่างยิ่งในเรื่องของจริยธรรมและคุณธรรมภายในวิชารัฐประศาสนศาสตร์
             การดำเนินกิจการต่าง ๆ ของรัฐนั้นมีขอบเขตครอบคลุมหลายมิติ เพื่อการบริหารที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการนั้น รัฐประศาสนศาสตร์จึงต้องนำเอาสาขาวิชาอื่น ๆ มาประยุกต์ใช้ และมีขอบเขตที่กว้างขวางตามความเหมาะสม และกลับจะเป็นการเปล่าประโยชน์ถ้าหากจะมุ่งพิจารณาความสัมพันธ์ของรัฐประศาสนศาสตร์กับสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ ในความจริงแล้วสาขาวิชาต่าง ๆ ก็ได้มีการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน มีการร่วมมือศึกษาและทำการวิจัยร่วมกัน ดังนั้น วิชารัฐประศาสนศาสตร์จึงต้องใช้ความรู้ระหว่างศาสตร์วิชาต่าง ๆ เหล่านั้น หรือที่เรียกว่า สหวิทยาการ (inter-disciplinary) มาประยุกต์ใช้กับโลกแห่งความเป็นจริง นอกจากนี้ในทางปฏิบัติแล้วรัฐประศาสนศาสตร์ยังมีความสัมพันธ์กับวิชาชีพอื่น ๆ อีก เช่น วิศวกรรมศาสตร์ การบริหารธุรกิจ นิติศาสตร์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้รัฐประศาสนศาสตร์จึงมีความสัมพันธ์กับสาขาวิชาต่าง ๆ ที่กล่าวมา และนอกจากนี้การศึกษาในวิชารัฐประศาสนศาสตร์จะต้องเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาต่าง ๆ อย่างกว้างขวางแล้ว สิ่งที่ขาดเสียมิได้ในการผลิตนักรัฐประศาสนศาสตร์ก็คือ การสร้างจริยธรรม อุดมการณ์ และพฤติกรรม ที่รับผิดชอบต่อสังคมต่อ ๆ ไป 
             การศึกษาที่มีความหลากหลายและเกิดเป็นพัฒนาการทางรัฐประศาสนศาสตร์จนเป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมทั่วไป ทำให้มีนักวิชาการทางรัฐประศาสนศาสตร์ทำการศึกษาพัฒนาการของวิชารัฐประศาสนศาสตร์ โดยมีการจำแนกลำดับการพัฒนาของสาขาวิชานี้อย่างกว้างขวางและมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับว่านักวิชาการใดจะให้ความสำคัญในมิติใด ตัวอย่างเช่น พิทยา บวรวัฒนา (2541, หน้า 9) ได้เสนอว่า พัฒนาการทางรัฐประศาสนศาสตร์ ประกอบด้วย ช่วงเวลาที่สำคัญ 4 ช่วง คือ (1) สมัยทฤษฎีดั้งเดิม (ค.ศ. 1887-1950) ได้แก่ ทฤษฎีและแนวการศึกษาเรื่อง การบริหารแยกออกจากการเมือง ระบบราชการ วิทยาศาสตร์การจัดการ และหลักการบริหาร (2) สมัยทฤษฎีท้าทายหรือวิกฤติการณ์ด้านเอกลักษณ์ (ค.ศ. 1950-1970) ได้แก่ ทฤษฎีและแนวการศึกษาเรื่อง การบริหาร คือ การเมือง ระบบราชการแบบไม่เป็นทางการ แนวคิดกลุ่มมนุษย์สัมพันธ์และศาสตร์การบริหาร (3) สมัยวิกฤติการณ์ด้านเอกลักษณ์ครั้งที่สอง (ค.ศ. 1960-1970) หมายถึง แนวคิดทางพฤติกรรมศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในความหมายใหม่ และ (4) สมัยทฤษฎีและแนวการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์สมัยใหม่ (ค.ศ. 1970 - ปัจจุบัน) โดยครอบคลุมถึงแนวการศึกษาเรื่องนโยบายสาธารณะ เศรษฐศาสตร์การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงาน การจัดการแบบประหยัด การออกแบบองค์การสมัยใหม่และการวิจัยเรื่ององค์การ ในขณะที่ อุทัย เลาหวิเชียร (2543, หน้า 17-36) เสนอว่าวิวัฒนาการทางรัฐประศาสนศาสตร์แบ่งออกเป็น 3 สมัยด้วยกัน คือ (1) ช่วงของ Wilsonถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 (2) ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึง ค.ศ. 1970 และ (3) ช่วงค.ศ. 1970 จนถึงปัจจุบัน และตามทัศนะของ ติน ปรัชญพฤทธิ์ (2551, หน้า 1-8) เห็นว่ามุมมองข้างต้นที่กล่าวมานั้นเป็นการศึกษาถึงพัฒนาการทางรัฐประศาสนศาสตร์ของกลุ่มสมัยใหม่นิยม (modernism) ที่เน้นในเรื่องของไซเบอร์เนติกส์ (cybernetics) ทฤษฎีเกมส์ (game theory) ทฤษฎีระบบ (systems theory) พร้อมกับการศึกษาในเชิงประจักษ์ (empirical study) เพื่อสามารถบรรยาย อธิบาย และพยากรณ์ปรากฏการณ์และพฤติกรรมได้เพียงหนึ่งในสามของประเด็นที่ศึกษา คือ ระดับจิตสำนึก (conscious level) เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีการศึกษาพัฒนาการของวิชารัฐประศาสนศาสตร์ใหม่ล่าสุด คือ การศึกษาแนวภายหลังโครงสร้างนิยม (post-structuralism) และภายหลังสมัยใหม่ (post-modernism) เข้ามาท้าทายกลุ่มสมัยใหม่นิยม (modernism) ข้างต้น โดยมุ่งบรรยาย อธิบาย และพยากรณ์ปรากฏการณ์และพฤติกรรม และอีกสองในสามส่วนที่เหลืออยู่ คือ ระดับจิตใต้สำนึก (subconscious level) และระดับวัฒนธรรมหรือระดับจิตไร้สำนึก (cultural or unconscious level)
             ในขณะที่มีแนวทางการศึกษาพัฒนาการของวิชารัฐประศาสนศาสตร์ที่มีการเรียกอีกชื่อหนึ่ง คือ พัฒนาการของวิชารัฐประศาสนศาสตร์เชิงกระบวนทัศน์ โดยถือเป็นเนื้อหาที่นิยมกันในการเรียนการสอนทางรัฐประศาสนศาสตร์

บรรณานุกรม

ยุทธพงษ์ ลีลากิจไพศาล. (2552). พัฒนาการและลักษณะของหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ระดับปริญญาตรีในประเทศไทย. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

พิทยา บวรวัฒนา. (2541). รัฐประศาสนศาสตร์: ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา (ค.ศ. 1887-ค.ศ. 1970) (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อุทัย เลาหวิเชียร. (2543). รัฐประศาสนศาสตร์: ลักษณะวิชาและมิติต่าง ๆ (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ที พี เอ็น เพรส.

Chandler, R. C. (1989). Public administration pedagogy: Evolutionary paradigms in theory and practice in handbook of public administration. New York: Marcel Dekker.

McCurdy, H. E. (1986). Public administration: A bibliographic guide to the literature. New York: Marcel Dekker.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วัดหนองโว้ง(พระอารามหลวง)

วัดหนองโว้ง(พระอารามหลวง)
ตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

พระวิสัน (พธบ./รปม)

รูปแบบ การวิจัย โดย ผศ.(พิเศษ) นภดล สุชาติ พ.บ M.P.H

อ้างอิงจาก http://www.slideshare.net/guest9e1b8/9-presentation-948269

South East Asia University

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ตัวแบบนโยบายสาธารณะสมัยใหม่

กิจกรรมดูงานเชื่อมสายสัมพันธ์ MPA12and MPA13

Download

เสียงปลง

Nonstop - I'm The Sexy Girl - DJ Back Up