Pages

วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การกำหนดนโยบายการคลัง

การกำหนดนโยบายการคลัง






นโยบายการคลังเป็นมาตรการที่รัฐบาลทุกรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในด้านรายได้และด้านการใช้จ่ายที่จะครอบคลุมไปถึงการก่อหนี้สาธารณะของรัฐเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจมหภาค การกำหนดนโยบายการคลังของรัฐบาลแต่ละคณะถือว่ามีความสำคัญยิ่งต่อความอยู่รอดของประเทศ  เพราะนโยบายทางด้านการคลังนั้นมีผลต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ในระยะสั้นนั้นนโยบายทางด้านการคลังจะส่งผลต่อตัวแปรทางด้านเศรษฐกิจของประเทศเช่น อุปสงค์รวมของประเทศ ระดับการจ้างงาน ระดับราคาสินค้ารวมไปถึงดุลการชำระเงิน ส่วนในระยะยาวนั้น นโยบายด้านการคลังที่ดีต้องมุ่งเน้นไปที่อัตราการเจริญเติบโตที่แท้จริงของผลผลิต การบริหารเงินของรัฐบาล และการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมั่นคงตลอดไป
นโยบายการคลังที่ดีต้องรักษาผลิตผลของชาติให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับตลาดแรงงานในประเทศด้วย เพื่อให้ประชาชนในประเทศมีงานทำ นอกจากนี้การกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานของรัฐบาลจะต้องมีการประสานกันระหว่าง กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจคือการคลัง พาณิชย์  อุตสาหกรรม เกษตร  แรงงานและท่องเที่ยว
รัฐบาลสามารถใช้นโยบายการคลังเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้นั่นคือการกำหนดนโยบายการคลังแบบขาดดุลและการออกมาตรการทางด้านภาษีโดยการลดภาษีให้ผู้ประกอบการทำให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวมีทุนเพิ่มขึ้นในการผลิตสินค้าและบริการ
การใช้นโยบายการคลังโดยการตั้งงบประมาณที่ขาดดุลจะกระทำได้ถ้าหากรัฐบาลต้องการกระตุ้นการว่าจ้างแรงงานเพื่อให้เกิดการบริโภคสินค้าและบริการในหมู่ประชาชนซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการลงทุนของภาคเอกชนด้วย ส่วนการใช้มาตรการทางด้านการลดภาษีนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อจะช่วยกระตุ้นทางด้านการบริโภคของประชาชนให้เพิ่มขึ้นเช่นกันซึ่งจะส่งผลดีต่อการลงทุนและการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น
นับตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 จนถึงปัจจุบันครบระยะเวลา 1 ปีแล้ว นโยบายหลายประการทางด้านเศรษฐกิจการเงินและการคลังไม่ค่อยจะสอดคล้องกันเท่าใดนัก นโยบายหลายๆข้อเป็นนโยบายประชานิยมที่ต้องการสร้างฐานคะแนนเสียงทางด้านการเมืองเป็นหลักโดยไม่ได้มีการวิเคราะห์ผลดีผลเสียให้รอบคอบ
นโยบายบางข้อทำให้รัฐบาลสูญรายได้ไปโดยไม่มีความจำเป็นอาทิเช่นนโยบายลดภาษีผู้ประกอบการธุรกิจโดยอ้างว่าต้องการให้องค์กรธุรกิจมีเงินเหลือไปจ่ายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาทต่อวันตามที่รัฐบาลประกาศไว้  นโยบายลดภาษีบ้านหลังแรก นโยบายลดภาษีรถยนต์คันแรก  นโยบายเหล่านี้กลับมีผลให้รัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลงทำให้รัฐบาลต้องไปกู้เงินซึ่งเป็นการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น
ส่วนนโยบายการออกบัตรสินเชื่อพลังงานให้ผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างสาธารณะ การออกบัตรสินเชื่อให้แก่เกษตรกรนั้นมองด้านหนึ่งอาจจะเห็นว่าเป็นการเปิดโอกาสและช่องทางให้ประชาชนมีทางเลือกในการหาแหล่งสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพเพิ่มจากเดิม
แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรมต่อประชาชนที่ประกอบอาชีพอื่นๆโดยเฉพาะคนชั้นกลาง 8 ล้านคนที่เสียภาษีเงินได้ให้รัฐบาลกลับไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้เลย การกำหนดนโยบายการคลังที่ดีจึงต้องมองภาพรวมของประเทศด้วยโดยให้คนทุกกลุ่มได้รับผลประโยชน์ที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันไม่ใช่มุ่งเฉพาะแต่ประชาชนที่เป็นพวกของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น


บทความคัดลอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น