โบราณสถานแห่งชาติลาว
ตั้งอยู่ในเขตที่เป็นอดีตเกาะเขินซึ่งได้หายสาบสูญไปแล้ว
ภายหลังที่น้ำโขงได้เปลี่ยนทางเดินน้ำ
คงยังเหลือแต่ร่องรอยอย่างหนึ่งของเมืองเป็นบึงโค้ง
ยาวประมาณ 3 กิโลเมตร เรียกว่า หนองวังคำ
เมื่อล่องเรือลงไปตามแม่น้ำโขงจากเมืองต้นผึ้ง
ไปถึงท่าต่อง ซึ่งอยู่คนละฟากกับเมืองเชียงแสนใหม่
ทางฝั่งไทยในปัจจุบัน หรือทางบกไปทางตะวันออก
ประมาณ 5 กิโลเมตร ก็จะถึงสถานที่ที่เป็นใจกลาง
ของเมืองร้างดังกล่าว คือ เขตบ้านดอนทาด
และ บ้านร่มเย็น ซึ่งจะมีพระพุทธรูปปางสมาธิองค์มหึมาตั้งอยู่
ที่ตั้งของเมืองต้นผึ้ง หรือ เมืองสุวรรณโคมคำร้าง
นั้นยังเป็นสุดเขตตะวันตกของประเทศลาว
ห่างจากเมืองห้วยทรายไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตร
ทางอากาศ หรือ ทางน้ำ 60 กิโลเมตร
และห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์
ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 375 กิโลเมตรทางอากาศ
เป็นโบราณสถานบรรจุร่องรอยทางประวัติศาสตร์
แห่งโบราณนครเก่าแก่ เรียกว่า “นครสุวรรณโคมคำ”
ซึ่งต่อมากลายมาเป็น นาคะนคร หรือ นครเชียงลาว
นครเงินยวง (เงินยาง) หิรัญนคร แล้วก็ นครเชียงแสน (เก่า)
จากการสำรวจเบื้องต้นในสถานที่ประมาณ 10,000 เฮคเตอร์
พบว่า มี โบราณสถาน 44 แห่ง
สร้างโดยการก่ออิฐถือปูน ได้แก่ พระอุโบสถ พระธาตุ
พระพุทธรูป บ่อน้ำ และ สถานที่อื่น ๆ สิ่งที่ยังคงความงดงาม
และสง่าตระการที่ยังเหลือให้เห็น
รอดพ้นจากฝีโจรปล้นสมบัติทั้งลาวและไทยสมัยก่อน
ได้แก่ พระพุทธรูปปางสมาธิ สร้างโดยการก่ออิฐถือปูน
เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งมีความกว้างหน้าตัก 7.10 เมตร
ความสูง 7.22 เมตร (ไม่รวมยอดเกศ) บ่าแต่ละข้าง 1.10 เมตร
ด้านข้างตั้งแต่สะโพกถึงเข่า 3.60 เมตร
นับว่าพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศลาว
และ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากขนาดของพระพุทธรูปองค์นี้
ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า
พระพุทธรูปองค์นี้คือพระพุทธรูปประจำวัดของพระราชวัง
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันคงเหลือแต่ร่างองค์พระพุทธรูป
ส่วนพระหัตถ์ พระเกศ พระนาภี และ ฐานพระ
ถูกโจรขุดเจาะเอาของมีค่าไปหมด
นอกจากพระพุทธรูปองค์นี้แล้ว
ยังมีอีกองค์ที่ใหญ่เกือบเท่ากัน
แต่พังทลายไปเนื่องจากการกัดเซาะของน้ำ
นั่นก็คือพระล้านตื้อ หรือ พระรัศมีทองสำริด
ที่จมอยู่ใต้แม่น้ำโขงที่ดอนแห้งของฝั่งลาว
ยังคงเหลือแต่พระเจดีย์หลายองค์ให้เห็น
น่าเสียดายที่ถูกทำลายจากการขุดเจาะเพื่อเอาของมีค่า
ยังคงเหลือบางองค์เท่านั้นที่ตั้งเด่นให้เห็น
ปูชนียสถานที่ยังคงหลงเหลืออยู่นี้
สามารถสันนิษฐานได้ว่า ส่วนใหญ่ มาจากยุคของนครเชียงแสน
ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
ซึ่งพระองค์ได้ทรงรับสั่งให้สถาปนาบูรณะให้เป็นนครที่สวยสดงดงาม
บนสองฝั่งแม่น้ำโขง โดยมีศูนย์กลางของเมืองอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง
ซึ่งคือที่เมืองต้นผึ้งนั่นเอง
นครดังกล่าวถูกทำลายจากการรุกรานของกองทัพพม่า
ในรัชกาลของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนั้นเช่นกัน
อันเป็นสาเหตุให้ดินแดนล้านนาถูกยึด
และถูกแยกออกจากดินแดนล้านช้างในเวลาต่อมา ต่อจากแนวเขาเล็กๆ ตั้งทางด้านตะวันตกของนครร้าง
ที่ทอดยาวจากทางเหนือไปทางใต้นั้น สังเกตเห็นมีคูเมืองลึก
และกว้างประมาณ 10 กว้างเมตร ทอดยาวจนถึงฝั่งแม่น้ำโขง
มีคันคูสูงเลียบทางฝั่งตะวันออกของคูเมือง
ซึ่งก็คือทางตะวันตกของตัวนครนั่นเอง จึงเข้าใจได้ว่า
นั่นเป็นแนวคูสู้รบและกำแพงป้องกันกองทัพของข้าศึก
ประวัติความเป็นมาของเมืองสุวรรณโคมคำ
กว่าจะมาถึงนครเชียงแสน
ตำนานของนครโยนก ก็คือตำนานลี่ผีของเจ้าคำหมั้นวงกดรัตนะ
ได้กล่าวไว้ มีข้อความดังนี้ :
พระเจ้าสิริวงสา กษัตริย์ของนครโพธิสารหลวง
(นครโคตปูระ หรือ โคตบูร หรือ สีโคตรตะบอง เขตเมืองท่าแขกในปัจจุบัน)
มีพระราชบุตร 2 พระองค์ องค์แรกมีพระนามว่า อินทรวงศา
และ องค์น้องพระนามว่า ไอยกุมาร เมื่อพระบิดาสวรรคต
ราชโอรสองค์โตก็ขึ้นครองราชย์สมบัติ
และองค์รองเป็นมหาอุปราช พระยาอินรวงศามีพระโอรส
ทรงพระนามว่า พระยาอินทปฐม และพระยาไอยกุมารมีพระธิดา
ทรงพระนามว่า นางอูรสา และ พระโอรส พระธิดาทั้งสองพระองค์
ได้อภิเษกสมรสกัน ครั้นพระยาอินทรวงศาสวรรคต
พระยาอินทปฐมกุมาร ก็ขึ้นครองราชย์สมบัติแทน
เมื่อนั้น พระยาไอยกุมาร ผู้เป็นอาและเป็นพ่อตา
ได้สละตำแหน่งมหาอุปราช แล้วพาบริวารเดินเรือกลับขึ้นตามแม่น้ำโขง
เป็นเวลา 3 เดือน จึงถึงเกาะเขิน ซึ่งตั้งอยู่ด้านซ้ายปากแม่น้ำกก
ทางทิศตะวันตก พระยาไอยกุมาร จึงตัดสินใจตั้งราชนครที่เกาะเขิน
อันประกอบด้วยครัวเรือนเบื้องต้น 3,000 ครัวเรือน
ขณะนั้นข่าวดีก็ได้มาถึงพระองค์ว่า
ราชธิดาของพระองค์ได้ให้ประสูติพระโอรส ที่มีเดชานุภาพตั้งแต่ประสูติ
และต่อมาก็เกิดอภินิหารขึ้นหลายอย่างในราชสำนักนครโคตรปูระ (โคตรบูร)
อันเป็นสาเหตุให้เสนาอามาตย์ และ ไพร่ฟ้า
กลัวว่าจะเกิดภัยพิบัติทำให้บ้านเมืองล่มจมได้
เมื่อเสนาอามาตย์เอาความขึ้นทูลถวายพระบิดาผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
พระองค์เลยทรงรับสั่งให้เอาพระมเหสีและราชบุตรใส่แพลอยน้ำ
ครั้นเมื่อพระเจ้าไอยกุมารทรงทราบเรื่องนี้ ก็เสียพระทัยเป็นยิ่งนัก
จึงได้ทรงรับสั่งให้ไพร่ฟ้าราษฎรทำการบวงสรวงจุดธูปเทียน
โคมไฟ และ ประทีป บูชาพญานาค
ให้สว่างทั่วแม่น้ำโขงเป็นเวลา 7 วัน 7 คืนเพื่อขอให้พญานาค
ชูเอาเรือของพระธิดาและองค์กุมารน้อยไว้ไม่ไหลสู่ลงทะเล
(ตามตำนานบอกว่า พญานาคได้สร้างลี่ผีขึ้น จึงปรากฏเป็นดอนขี้นาค
เพื่อกั้นแม่น้ำโขง ทำให้แพองค์กุมารน้อยไหลขึ้นเหนือจนถึงเกาะเขิน)
การที่บวงสรวงพญานาคโดยการจุดประทีป โคมไฟ ธูปเทียนบูชา
ไหลไปตามแม่น้ำโขงนี้เอง
จึงก่อให้เกิดประเพณีการไหลเรือไฟของลาวครั้งแรก และ
ปฏิบัติกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เอง
ชุมชนใหม่ที่ตั้งขึ้นบนเกาะเขินนั้น จึงได้รับการขนานนามว่า
เมืองสุวรรณโคมคำ ซึ่งได้มาจากพระนามขององค์กุมารน้อย
ซึ่งมีพระนามว่า สุวรรณมุขทวาร
และชื่อของพิธีจุดโคมบวงสรวงพญานาค ซึ่งเรียกว่า โคมคำ
เมืองสุวรรณโคมคำนั้น ตั้งขึ้นในสมัยใด
และเชื้อกษัตริย์เมืองโพธิสารหลวงนั้นเป็นชาติพันธุ์ใด ?
ตามตำนานของประเทศศรีลังกา ซึ่งท่านฟรังซิสการเย เขียนไว้
ในหนังสือการสำรวจแม่น้ำโขงของท่าน ในศตวรรษที่ 19 กล่าวไว้ว่า
เมืองสุวรรณโคมคำนั้นปรากฏตัวอยู่ในศตวรรษที่ 5 ของคริสตกาล
และตามตำนานน้ำท่วมโลก
ซึ่งได้กล่าวถึงพระยาศรีสัตนาคที่ครองเมืองหนองกระแสแสนย่าน
ได้นำกำลัง 7 โกฏิ ( 7 พันล้าน) ยกลงมาตามแม่น้ำโขง
และเป็นต้นกำเนิดของนาค 15 ตระกูล ในหลวงพระบาง
และต่อมาชาวเมืองโพธิสารหลวง (ศรีโคตรตะบอง หรือ โคตรบูร)
นั้นเป็นเชื้อขอม
ตำนานยังบอกว่า เมืองสุวรรณโคมคำนั้น
เติบโตอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น
บ้านเรือนของไพร่พลก็มีถึง 100,000 หลัง
ครั้งต่อมา เมืองสุวรรณโคมคำมีการประพฤติไม่ซื่อสัตย์ต่อพ่อค้า
ซึ่งเป็นพวกนาคชาวหลวงพระบาง ทำให้เกิดการขัดแย้งกัน
ชาวหลวงพระบางจึงได้ยกกำลังมาบุกทำลายเมืองสุวรรณโคมคำจนราบ
ทำให้ชาวเมืองแตกตื่นอพยพไปทั่วสารทิศ เช่น หนีเข้าอุโมงค์
ไปศรีสัชนาลัย และหลวงพระบาง และได้นำประเพณีไหลเรือไฟไปปฏิบัติด้วย
ต่อมายังมีเชื้อนาคตระกูลลาวจก คือ ลาวทางภาคเหนือของเชียงราย
ได้มาสร้างนครสุวรรณโคมคำขึ้นอีกครั้ง
ตามตำนานมีกำแพงเมืองรอบ 4 ด้าน และ แต่ละด้านยาว 3,000 วา
ด้วยเหตุนี้ เมืองสุวรรณโคมคำที่สาบสูญไปแล้วจึงได้ชื่อเรียกใหม่ว่า
เมืองนาเคนทรนคร หรือ นาคบุรี หรือ เมืองนาคพันทุสิงหนวัตนคร
หรือ นครเชียงลาว เนื่องจากว่าชาวลาวภาคเหนือ (นาค) เป็นผู้สร้างขึ้น
นอกจากชื่อต่าง ๆ นั้นแล้ว ในตำนานต่าง ๆ ของชาวลาวภาคเหนือ
และมหากาพย์เรื่อง ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ยังได้เรียกไว้อีกชื่อหนึ่งว่า นครเงินยาง
หรือ เงินยวง ต่อมาเมื่อพระยาแสนภูได้มาครองเมืองดังกล่าวก็ได้อีกชื่อว่า
เชียงแสน (เก่า)
ตระกูลลาวจกได้ครองนครเชียงลาว หรือ นาคบุรี
หรือ นครเงินยาง มาตลอด 43 รัชสมัย จนมาถึงสมัยขุนเจือง
กษัตริย์ลาวคนแรก ที่รวบรวมเผ่าต่าง ๆ ให้เป็นอาณาจักรเดียวกัน
อยู่ทางภาคเหนือ เมื่อ ค.ศ. 1096 ขุนเจืองได้ยกกองทัพพิชิตหลวงพระบาง
เชียงขวาง และปะกัน (แคว้นแกวจี ของเวียตนาม)
จากนั้นก็รวมเป็นอาณาจักรเดียวกัน
โดยเฉพาะรวมตระกูลนาคและตระกูลขอมเข้าด้วยกัน
พระองค์จึงถือได้ว่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง
ของเหล่าบรรดาเผ่าพันธุ์ต่างๆ ของชาติลาว
อาณาจักรของขุนเจืองล่มสลายในรัชสมัยที่ 4 ของกษัตริย์หลวงพระบาง
คือในสมัยรัชกาลของขุนกันฮาง
ผู้ซึ่งเป็นเหลนโหลนของขุนเจือง
หลังจากพ่ายแพ้ให้แก่กองทัพของขุนลอ
ที่ยกทัพมาจากเมืองแถง ( ปัจจุบันคือ เดียนเบียนฟู ของเวียตนาม)
เมืองสุวรรณโคมคำ อันเป็นชื่อแรกของนครโบราณแห่งนี้
นับว่าได้ผ่านการถูกทำลาย และ
สร้างขึ้นใหม่หลายครั้งหลายหน และมีชื่อเรียกต่าง ๆ มากมาย
ในที่สุดก็เหลือให้เห็นแต่ร่องรอยของเมืองร้างอันน่าสะเทือนใจ
ปัจจุบันนี้ทางแผนกวัฒนธรรม แขวงบ่อแก้ว
และ กระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม
ได้มีมาตรการอนุรักษ์และประกาศให้เป็นปูชนียสถานแห่งชาติ
เป็นสถานที่อนุรักษ์และหวงห้าม
เป็นอุทยานแห่งการศึกษาหาความรู้
แหล่งท่องเที่ยวและผักผ่อนหย่อนใจของนักค้นคว้า นักศึกษา
นักอนุรักษ์นิยม และรักษาวัฒนธรรมอันหลากหลาย
นั่นก็คือ ธรรมชาติที่สวยงามและปลอดโปร่ง
ออกไปไม่ไกลจากปูชนียอุทยานแห่งนี้
มีสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่มาที่แห่งนี้ คือ
บ่อน้ำร้อนคุณภาพดี ต้นไม้ที่หายากหลายชนิด
ร่องรอยอดีต สามเหลี่ยมทองคำ คูหา และวิถีชีวิตของชนเผ่าต่าง ๆ
ที่หลากหลาย นอกจากนั้นที่พิเศษอีกอย่างคือ
เมื่อถึงวันบุญออกพรรษา
ก็จะได้ชมการไหลเรือไฟบูชาพญานาค ณ
ที่ที่เป็นต้นกำเนิดของประเพณีนี้
และ เมื่อถึงฤดูดอกงิ้วบาน
ก็จะได้ร่วมบุญดอกงิ้วอันสนุกสนานรื่นเริงหาที่ใดเปรียบได้เหมือน
ที่มาจาก
สุวรรณโคมคำ โบราณสถาณแห่งชาติลาว ต้นกำเนิดประเพณีการไหลเรือไฟบูชาพญานาค