ทฤษฎีเกี่ยวกับวิชารัฐประศาสนศาสตร์.
การนำเสนอแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ประกอบด้วยความหมายของของรัฐประศาสนศาสตร์ ขอบข่ายของการศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์และความเป็นสหวิทยาการของรัฐประศาสนศาสตร์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ความหมายของรัฐประศาสนศาสตร์
อุทัย เลาหวิเชียร (2543, หน้า 8) ได้อธิบายถึงคำดังกล่าวว่า มีนัยสำคัญอยู่ที่การขึ้นต้นด้วยอักษรตัวพิมพ์เล็กและตัวพิมพ์ใหญ่ กล่าวคือ Public Administration อักษรตัว P และ A เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ หมายถึง ศาสตร์หรือสาขาวิชา (as a field of study) หรือจะเรียกว่าเป็นชื่อวิชาก็ได้ (as a discipline) เช่น วิชารัฐประศาสนศาสตร์ ภาควิชาหรือโปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เป็นต้น และสำหรับ Public Administration มีตัวอักษร p และ a เป็นตัวพิมพ์เล็กนั้น หมายถึง เป็นกิจกรรมหนึ่ง (as an activity) โดยแปลว่า การบริหารงานของรัฐ (การบริหารราชการ) หรือเรียกอีกอย่างว่า การบริหารรัฐกิจ
สำหรับในประเทศไทยมีการใช้คำนี้ค่อนข้างสับสน กล่าวคือ คำว่า รัฐประศาสนศาสตร์ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นรัฐศาสตร์หรือส่วนหนึ่งของรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด ในขณะเดียวกัน ก็จะพบว่า มีการเรียกชื่อภาควิชาที่แตกต่างกัน อาทิมหาวิทยาลัยรามคำแหง ใช้ชื่อว่า ภาควิชาบริหารรัฐกิจ ทำให้เกิดความสับสนเข้าใจว่ารัฐประศาสนศาสตร์และบริหารรัฐกิจเป็นคนละวิชากัน อย่างไรก็ตาม คำว่า รัฐประศาสนศาสตร์ (Public Administration) นั้น แทนความหมายในทางวิชาหรือวิชาการ ส่วนบริหารรัฐกิจ (public administration) หมายถึง ภาคปฏิบัตินั่นเอง
ติน ปรัชญพฤทธิ์ (2535, หน้า 1) กล่าวว่า รัฐประศาสนศาสตร์ เป็นสาขาวิชาและ/หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานภาครัฐบาลในภาษาอังกฤษ คำว่า PublicAdministration (ตัวพิมพ์ใหญ่) หมายถึง สาขาวิชาการบริหารงานภาครัฐ ส่วน publicadministration (ตัวพิมพ์เล็ก) หมายถึง กิจกรรมหรือกระบวนการ หรือพฤติกรรมการบริหารงานภาครัฐบาล ในภาษาไทยนั้น คำว่า รัฐประศาสนศาสตร์ มักจะหมายถึงสาขาวิชาการบริหารงานของรัฐ ส่วนการบริหารรัฐกิจ มักจะหมายถึง กิจกรรมหรือกระบวนการเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐ
วินิต ทรงประทุม (2539, หน้า 17) กล่าวว่า รัฐประศาสนศาสตร์ หมายถึง การศึกษาการบริหารราชการ และการกระทำ หรือกิจกรรมการบริหารราชการ เพราะความหมายทั้งสอง คือ การศึกษา และการกระทำทางด้านการบริหารราชการนั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
ปฐม มณีโรจน์ (2523, หน้า 45) กล่าวว่า Public Administration มีความหมายเป็น 2 นัย คือ (1) กิจกรรมการบริหารงานสาธารณะ ซึ่งอาจครอบคลุมทั้งการบริหารราชการและรัฐวิสาหกิจ (2) คือ สาขาวิชาการบริหารหรือที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ รัฐประศาสนศาสตร์
Henry (1980, pp. 26-60) เสนอว่า “วิชารัฐประศาสนศาสตร์มีเอกลักษณ์ เพราะมีความแตกต่างจากวิชารัฐศาสตร์ที่ว่าเป็นวิชาที่ให้ความสนใจต่อการศึกษาโครงสร้างและพฤติกรรมของระบบราชการรวมทั้งเป็นศาสตร์ที่มีระเบียบวิธีการศึกษาเป็นของตนเอง”วิชารัฐประศาสนศาสตร์ยังแยกความแตกต่างจากศาสตร์การบริหารในแง่ที่ว่าเป็นวิชาที่ศึกษาเรื่องขององค์การรัฐซึ่งมิได้มุ่งแสวงหากำไรดังเช่นองค์การเอกชน แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันองค์การของรัฐมีความจำเป็นต้องบริหารงานองค์การเพื่อแสวงหากำไรแต่จะนำกำไรกลับมาช่วยเหลือต่อส่วนรวม เช่น องค์การของมูลนิธิ นอกจากนี้ยังเป็นวิชาที่สนับสนุนให้องค์การของรัฐมีโครงสร้างกลไกในการตัดสินใจที่สามารถเกื้อกูลต่อการให้บริการสาธารณะ
Vocino and Rabin (1981, p. 4) เสนอว่า “วิชารัฐประศาสนศาสตร์เป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติงานในเรื่องเกี่ยวกับองค์การ การตัดสินใจ และบุคลากร เพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาสาธารณะ และมีความแตกต่างจากการบริหารงานภาคเอกชน
Nigro and Nigro (1984, p. 11) กล่าวว่า วิชารัฐประศาสนศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาถึงเรื่องดังต่อไปนี้
1. ความพยายามร่วมกันของกลุ่มชนสาธารณะ
2. กิจกรรมของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ
3. เป็นเรื่องของการเมืองและการกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดนโยบาย
4. บทบาทของเอกชนและบุคคลหลายฝ่าย ที่มีต่อการให้บริการชุมชน
จากความหมายของคำว่า รัฐประศาสนศาสตร์ สามารถสรุปได้ว่า เป็นการดำเนินงานของระบบราชการ โดยที่มุ่งเน้นในเรื่องของการดำเนินงานในระบบราชการและโครงสร้างของหน่วยงานราชการ และการจัดกิจกรรมของรัฐที่ได้กำหนดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการประชาชนด้วยความเสมอภาคและยุติธรรม สำหรับสิ่งที่ผู้เรียนจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษสำหรับการศึกษาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ นอกจากการมุ่งเน้นในเรื่องของการศึกษาทางระบบราชการ โครงสร้างของหน่วยงานราชการหรือการจัดทำกิจกรรมของรัฐแล้วนั้น นักรัฐประศาสนศาสตร์ในยุคปัจจุบันจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการปฏิบัติงานให้กว้างไกลเพื่อที่จะสามารถบริหารหรือทำการพัฒนาหน่วยงานของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่โดยเฉพาะการรู้จักการสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารงานภายในหน่วยงานแต่ละหน่วยงาน นักรัฐประศาสนศาสตร์จำเป็นต้องรู้จักการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุดในการที่จะขอความสนับสนุนช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการส่วนกลาง เพราะถ้าการบริหารงานของหน่วยงานราชการยังดำเนินการบริหารในรูปแบบเดิม ๆ การพัฒนาในหน่วยงานก็จะไม่เกิดขึ้นอีกทั้งหน่วยงานราชการก็จะไม่สามารถดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด ในสถานการณ์ปัจจุบันการบริหารงานภายในหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องมีความรวดเร็ว ถูกต้อง และเสมอภาคต่อการให้บริการประชาชน ทั้งนี้จะประสบความสำเร็จได้จะต้องอาศัยทักษะความรู้ความสามารถของบุคลากรในหน่วยงานเข้ามามีส่วนเสริมสร้างต่อการพัฒนาการบริหาร
จากความหมายในข้างต้นจะเห็นได้ว่า รัฐประศาสนศาสตร์มีขอบเขตที่กว้างขวางในการศึกษาและต้องอาศัยศาสตร์ต่าง ๆ มาอธิบาย ตลอดจนแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของแต่ละกิจกรรม ซึ่งถือเป็นความจำเป็นและความพยายามทำให้เกิดความสมบูรณ์ในทางรัฐประศาสนศาสตร์
บรรณานุกรม
ยุทธพงษ์ ลีลากิจไพศาล. (2552). พัฒนาการและลักษณะของหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ระดับปริญญาตรีในประเทศไทย. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
อุทัย เลาหวิเชียร. (2543). รัฐประศาสนศาสตร์: ลักษณะวิชาและมิติต่าง ๆ (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ที พี เอ็น เพรส.
ติน ปรัชญพฤทธิ์. (2535). รัฐประศาสนศาสตร์เปรียบเทียบ: เครื่องมือในการบริหารประเทศ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วินิต ทรงประทุม. (2539). ความยากและความหมายของรัฐประศาสนศาสตร์. ใน วินิตทรง ประทุม และวรเดช จันทรศร (บรรณาธิการ), การประสานแนวคิดและขอบข่ายของรัฐประศาสนศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า 25-45). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.
ปฐม มณีโรจน์. (2523). ขอบข่ายและสถานภาพของรัฐประศาสนศาสตร์: พิจารณาใน ทัศนะวิชาชีพ. ใน อุทัย เลาหวิเชียร ปรัชญา เวสารัชช์ และเฉลิมพล ศรีหงษ์ (บรรณาธิการ), รัฐประศาสนศาสตร์: ขอบข่าย สถานภาพ และพัฒนาการในประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2, หน้า 58-79). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แสงรุ้งการพิมพ์.
Henry, N. (1980). Public administration and public affairs (2nd ed.). Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall.
Vocino, T. & Rabin, J. (1981). Contemporary public administration. New York: Harcourt Brace Jovanovich.
Nigro, F. A., & Nigro, L. G. (1984). Modern public administration (6th ed.). New York: Harper & Row.
ทฤษฎีเกี่ยวกับวิชารัฐประศาสนศาสตร์.