วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555


ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษผู้สร้างประชาธิปไตยของไทย
ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถือเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่ง ที่เป็นผู้ก่อร่างระบอบสังคมและการเมืองแบบใหม่ในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นผู้นำสายพลเรือนของคณะราษฎร และเป็นผู้เตรียมการทั้งหมดในด้านการบริหารระบอบใหม่ ในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ นอกจากนี้ ยังเป็นบุคคลสำคัญ ในการวางรากฐานระบอบการคลังสมัยใหม่ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเจรจากับต่างประเทศให้ประเทศสยามได้เอกราชสมบูรณ์  และต่อมาเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นเข้ายึดประเทศไทย ปรีดี พนมยงค์ ก็ยังเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในการต่อต้านญี่ปุ่นและมีส่วนทำให้ประเทศไทยพ้นจากการยึดครองโดยตรงของฝ่ายพันธมิตร แม้ว่า ปรีดี พนมยงค์ จะสร้างประโยชน์ ให้กับประเทศชาติอย่างมากเช่นนี้ แต่ในที่สุด กลับถูกใส่ร้ายป้ายสีจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ในข้อหาสำคัญ คือ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังกรณีปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ 
 ต่อมา หลังการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งทำให้ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ กลุ่มอนุรักษ์นิยมได้ระบายสีภาพลักษณ์ ให้ปรีดี พยมยงค์ กลายเป็นปีศาจร้ายในทางการเมืองมากขึ้น เพราะนอกเหนือจากการเป็นผู้ก่อเหตุเรื่องกรณีสวรรคตแล้ว ยังถูกโจมตีว่าเป็นหัวหน้าใหญ่คอมมิวนิสต์ ที่จะนำอิทธิพลของจีนแดงมาครอบครองประเทศไทย ภาพลักษณ์ของปรีดี ในลักษณะเช่นนี้ติดตัวจนกระทั่งท่านถึงแก่กรรมในต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ ภาพลักษณ์ที่ดี จึงค่อยถูกฟื้นฟูขึ้น จนกระทั่งปัจจุบัน ปรีดี พนมยงค์ ก็กลายเป็นที่ยอมรับในฐานะที่เป็นรัฐบุรุษของประเทศไทย ในลักษณะเช่นนี้ การย้อนกลับไปพิจารณาบทบาทของท่าน จึงมีความน่าสนใจอย่างมาก
ดร.ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ในเรือนแพ หน้าวัดพนมยงค์ อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นลูกคนที่สอง ของนายเสียง ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว มารดาชื่อนางจันทน์ สืบเชื้อสายมาจากพระนมในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อ "ประยงค์" ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดห่างจากกำแพงพระราชวังด้านตะวันตกชื่อ วัดนมยงค์ หรือ "พนมยงค์" เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. ๒๔๕๖ ครอบครัวนี้จึงได้ใช้นามสกุลว่า "พนมยงค์" 
ปรีดีอธิบายฐานะทางครอบครัวของเขาว่า เป็นชาวนา ที่ค่อนข้างมีฐานะที่จังหวัดอยุธยา ซึ่งเรียกว่าเป็น "ชาวนานายทุนน้อยแห่งชนบท" สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยม ๓ ที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า ได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมปลาย ณ โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร และกลับไปศึกษาที่โรงเรียนมัธยมตัวอย่างประจำมณฑลอยุธยา จนจบชั้นมัธยม ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ อายุได้ ๑๔ ปี หลังจากนั้นออกมาช่วยบิดาทำนาหนึ่งปี และจึงได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ปรีดีสอบไล่วิชากฎหมาย ชั้นเนติบัณฑิตได้ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา เนื่องจากกระทรวงยุติธรรมพอใจในผลสอบ จึงให้ทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนต่อด้านกฎหมาย ที่ประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ โดยเข้าเรียนชั้นปริญญาตรีทางกฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยก็อง (Univesite de Caen) และศึกษาพิเศษจากศาสตราจารย์เลอบอนนัวส์ (Lebonnois) จนสำเร็จการศึกษาได้ปริญญารัฐ เป็น "บาเซอลิเย" กฎหมาย (Bachelier en Droit) และ "ลิซองซิเย" กฎหมาย (Licencie en Droit) ต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์ (Sciences Juridiques) และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง (Diplome d"Etudes Superieures Economic Politique) มหาวิทยาลัยปารีส ได้ปริญญารัฐ "ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย"(Docteur en Droit) ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยเสนอวิทยานิพนธ์ เรื่อง "Du Sort des Societes de Personnes en cas de Deces d"un Associe" (ศึกษากฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายเปรียบเทียบ) นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ศึกษาต่อจนจบดุษฎีบัณฑิตด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส
และในระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ปารีสนี้เอง ปรีดี พนมยงค์ ได้เริ่มคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยในระยะแรก ท่านได้สนทนากับเพื่อนสนิท คือ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งเป็นอดีตนายทหารมหาดเล็กของรัชกาลที่ ๖ และเดินทางไปศึกษาวิชารัฐศาสตร์ที่ประเทศฝรั่งเศส การเริ่มคิดการน่าจะเป็นวันหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งปรีดี และ ร.ท.ประยูร ได้สนทนากันในเรื่องปัญหา ของประเทศไทย และทั้งสองคนมีความเห็นตรงกันว่า จะต้องก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น จึงได้ชักชวนให้ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนทหารปืนใหญ่เข้าร่วมด้วย ต่อมา ได้รวบรวมนักเรียนไทยในยุโรป ๗ คน เปิดประชุมครั้งแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ (ปฏิทินเก่า ถ้าเป็นปฏิทิน ปัจจุบันจะเป็น พ.ศ. ๒๔๖๙) ซึ่งถือเป็นการก่อตั้งคณะราษฎรอย่างเป็นทางการ
หลังจากนั้น กลุ่มนักเรียนนอกเหล่านี้ได้กลับมายังประเทศไทย และรับราชการ ปรีดี พนมยงค์ รับราชการในกรมร่างกฏหมาย กระทรวงยุติธรรม และได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ส่วน ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ ได้เลื่อนเป็น พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม แต่การคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังไม่มีโอกาสในการดำเนินการ เพราะมีกำลังไม่เพียงพอ จนเมื่อ ประยูร ภมรมนตรี สามารถชักชวนทหารชั้นผู้ใหญ่มาเข้าร่วมอันได้แก่ 
๑. พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน) รองจเรทหารบก ๒. พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการโรงเรียนนายร้อย ๓. พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่ที่ ๑ ๔. พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ผู้อำนวยการแผนกโรงเรียนเสนาธิการทหารบก
ดังนั้น กลุ่มคณะราษฎรจึงลงมือดำเนินการยึดอำนาจ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ โดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา รับเป็นหัวหน้าคณะ พ.อ.พระยาทรงสุรเดชเป็นรองหัวหน้าคณะและเป็นผู้วางแผนการยึดอำนาจ หลวงประดิษฐมนูธรรมรับเป็นหัวหน้าสายพลเรือน เป็นผู้รับผิดชอบ ในการร่างแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญการปกครอง และเป็นผู้ดูแลการบริหาร ราชการหลังการปฏิวัติ และในที่สุดการปฏิวัติก็ประสบผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยอมรับเงื่อนไขของคณะราษฎร ที่จะให้มีการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ และจำกัดอำนาจการบริหารของพระมหากษัตริย์ และให้มีรัฐสภา และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด
หลังจากการปฏิวัติ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนชุดแรก นอกจากนี้ ยังได้รับตำแหน่งเลขาธิการรัฐสภา นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการราษฎร และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วย ปรากฏว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวรร่างเสร็จ และประกาศใช้ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ตามหลักการของรัฐธรรมนูญนี้ ได้กำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติ มีสภาผู้แทนราษฏรเพียงสภาเดียวโดยมีสมาชิก ๒ ประเภท และมีคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ก็ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาประเภทที่ ๒ และเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลด้วย
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (ปฏิทินเก่า ถ้าคิดเป็นปีปัจจุบัน คือ พ.ศ. ๒๔๗๖) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อที่จะใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปรากฏว่าเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ได้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากฝ่ายของพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรี และเหตุการณ์ขยายตัวจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยโจมตีว่ามีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ กรณีนี้ นำมาซึ่งการที่ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในวันขึ้นปีใหม่ที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพราะเปิดโอกาสให้รัฐบาลออกกฎหมายบังคับใช้โดยไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และทำให้อำนาจสมบูรณ์อยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี จากนั้น ในวันต่อมา รัฐบาลก็ได้ออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ .๒๔๗๖ เพื่อที่จะใช้เล่นงานหลวงประดิษฐ์มนูธรรมว่า มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ดังนั้น รัฐบาลจึงจัดการให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เดินทางออกจากประเทศสยามไปยังประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน
ต่อมา พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ร่วมด้วย พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม และ น.ท.หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) ก่อการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ เพื่อที่จะรื้อฟื้นการใช้รัฐธรรมนูญ และเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในครั้งนี้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้เรียกหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับประเทศ เพื่อรับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ต่อมาหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง หลวงประดิษฐ์ฯก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการปกครอง ท้องถิ่นตามแบบประชาธิปไตย โดยให้มีการเลือกตั้งเทศบาลทั่วประเทศ นอกจากนี้ ก็คือ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อเป็นตลาดวิชา ให้ความรู้ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยแก่ประชาชน จากนั้น หลวงประดิษฐมนูธรรม ก็ได้รับตำแหน่งผู้ประศาสน์การ (อธิการบดี) คนแรกของมหาวิทยาลัยฯ
ต่อมา ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปเจรจาแกัไขสัญญาไม่เสมอภาคกับชาติมหาอำนาจ การเจรจาครั้งนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ จึงทำให้ประเทศสยามมีเอกราชสมบูรณ์เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การลงนามในสัญญาบาวริง พ.ศ. ๒๓๙๘ เป็นต้นมา และเป็นมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลใหม่ของ พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อประเทศจากประเทศสยามเป็นประเทศไทย ใน พ.ศ. ๒๔๘๒
เมื่อหลวงพิบูลสงครามรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการคลังของประเทศ เช่น การยกเลิกเงินรัชชูปการ และอากรค่านา ซึ่งเป็นภาษีที่ตกค้างมาจากยุคศักดินา การออกประมวลรัษฎากร เพื่อจัดการภาษีให้เป็นระบบระเบียบ และการเตรียม การตั้งธนาคารแห่งชาติ เพื่อควบคุมเสถียรภาพทางการเงิน ใน พ.ศ. ๒๔๘๕ รัฐบาลได้ยกเลิกบรรดาศักดิ์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้กลับมาใช้ชื่อเดิมว่า ปรีดี พนมยงค์ อีกครั้ง ในระหว่างนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะสงคราม จากการที่ญี่ปุ่นได้ยกกองทัพบุกประเทศไทย และต่อมา รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงครามก็ได้เข้าร่วมสงคราม โดยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ปรีดี พยมยงค์ ได้พ้นจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี และรับตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และได้อาศัยเงื่อนไขนี้จัดตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งกลายเป็นที่มาของขบวนการเสรีไทย โดยปรีดีรับตำแหน่งหัวหน้าใหญ่ของเสรีไทยในประเทศ ใช้นามแฝงในขบวนการว่า รูธ ในระหว่างนี้ ท่านได้มีส่วนสำคัญมากในการผลักดันให้ จอมพล ป.พิบูลสงครามต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ และสนับสนุนให้ นายควง อภัยวงศ์ รับตำแหน่งแทน จากนั้นต่อมา ปรีดี พยมยงค์ ก็ขยายบทบาทของขบวนการเสรีไทยเพื่อเตรียมการต่อต้านญี่ปุ่น แต่สงครามได้ยุติลงก่อน เพราะญี่ปุ่นยอมแพ้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ อย่างไรก็ตาม ด้วยบทบาทของเสรีไทยดังกล่าว มีส่วนทำให้ประเทศไทยพ้นจากภาวะประเทศแพ้สงคราม ในภาวะเช่นนั้น ทำให้เกียรติภูมิของนายปรีดี พนมยงค์ สูงเด่นมาก
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยบริหารด้วยรัฐบาลพลเรือน ที่มีแนวโน้มประชาธิปไตยอย่างมาก ปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องเป็นรัฐบุรุษ และอยู่ในฐานะผู้ที่มีบทบาททางการเมือง จนกระทั่งวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านก็ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง ในระบบรัฐสภา โดยมีพรรคการเมืองที่สนับสนุนคือ พรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ และ พรรคอิสระ ปรากฏว่า ในระหว่างที่ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นี้เอง ได้เกิดเหตุร้ายเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน นายปรีดีและคณะรัฐมนตรี ได้ขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาว่า ผู้ที่จะขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ ควรได้แก่สมเด็จพระอนุชา เมื่อสภามีมติเห็นชอบแล้ว เจ้าฟ้าภูมิพล ก็ได้ขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ ๙
เหตุการณ์นี้ ทำให้ศัตรูทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งก็คือพวกอนุรักษ์นิยมเจ้า และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน สบโอกาสในการทำลายนายปรีดี ทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่างๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ ว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" ซึ่งเป็นคำกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก กลายเป็นกระแสข่าวลือ และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ และ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ก็ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน  ต่อมา เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ คณะรัฐประหารซึ่งประกอบ ด้วย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พ.อ.กาจ กาจสงคราม พ.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ และพยายามจับกุม ตัวปรีดี พนมยงค์ แต่ท่านทราบข่าวก่อนเพียงไม่กี่นาที จึงหนีทัน และต่อมาได้ลี้ภัยการเมืองไปยังบริติชมลายา จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านได้พยายามกลับมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจคืน แต่ประสบความพ่ายแพ้ จากนั้นได้ลี้ภัยต่อไปอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วได้พำนัก อยู่ที่นั่นเป็นเวลาถึง ๒๑ ปี ก่อนจะลี้ภัยต่อไปยังประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. ๒๕๑๓ 
ในระหว่างที่ปรีดี พยมยงค์ ลี้ภัยต่างประเทศนี้ การใส่ร้ายป้ายสีของฝ่ายรัฐบาลเผด็จการ ร่วมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพิ่มทวีใน ๒ ข้อหา คือ กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ ๘ และข้อหาคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะการใส่ร้ายกรณีสวรรคต ดำเนินการโดยนายตำรวจคนสำคัญ คือ พล.ต.อ.พระพินิจชนคดี (เซ่ง อินทรทูต) และในที่สุด ก็ได้นำคดีฟ้องต่อศาล ทั้งที่หลักฐานอ่อนมาก ในกรณีนี้ นำมาซึ่งการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ ๓ คน คือ นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัททมศรินทร์ และนายเฉลียว ปทุมรส กรณีนี้ ถือได้ว่าเป็นจุดด่างในกระบวนการยุติธรรมของไทย
กระแสการใส่ร้ายป้ายสีในฐานะฆาตกรกรณีสวรรคต และการโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ภาพลักษณ์ของนายปรีดี เสียหายอย่างมาก จนกระทั่ง เมื่อเกิดกรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ จึงได้เริ่มเกิดกระแสรื้อฟื้นภาพลักษณ์ ของปรีดี พนมยงค์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะกลุ่มขบวนการนักศึกษาฝ่ายสังคมนิยมที่มีบทบาทอย่างมากหลัง ๑๔ ตุลาคม กลุ่มนี้จะวิพากษ์ศักดินานิยมและไม่เชื่อในเรื่องการกล่าวหาว่า ปรีดี พนมยงค์ เป็นฆาตกร และยิ่งต่อมา หลังกรณี ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ การกล่าวหาเรื่องกรณีสวรรคต ก็ไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไปในวงการวิชาการ ความพยายามในการที่จะสร้างเรื่องตอก ย้ำความเป็นฆาตกรของปรีดี ไม่ประสบผล ส่วนหนึ่ง ก็มาจากการที่หลักฐานในการกล่าวหาไม่สามารถที่จะสร้างให้มีน้ำหนักได้เลย นอกจากนี้คุณงามความดีที่ทำมาในอดีตของนายปรีดี ก็มีผู้นำมาศึกษาและเผยแพร่มากขึ้น
หลังจากที่ใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ชานกรุงปารีสมานาน ๑๓ ปี ปรีดี พนมยงค์ ก็ถึงแก่กรรมในวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ รวมอายุได้ ๘๖ ปี ชีวิตของ ปรีดี พนมยงค์ สามารถที่จะสรุปได้ดังนี้ "คือผู้อภิวัฒน์การปกครองของประเทศไทย หัวหน้าขบวนการเสรีไทย เป็นผู้มีคุณูปการแก่ชาติ อย่างมากมาย แต่กลับกลายเป็นบุคคลที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีมากที่สุดคนหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ สุดท้ายกลายเป็น "คนดี" ที่เมืองไทยไม่ต้องการและเมื่อถึงแก่กรรมก็ได้ฟื้นเกียรติคืนมา"
 
สมพร จันทรชัย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วัดหนองโว้ง(พระอารามหลวง)

วัดหนองโว้ง(พระอารามหลวง)
ตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

พระวิสัน (พธบ./รปม)

รูปแบบ การวิจัย โดย ผศ.(พิเศษ) นภดล สุชาติ พ.บ M.P.H

อ้างอิงจาก http://www.slideshare.net/guest9e1b8/9-presentation-948269

South East Asia University

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ตัวแบบนโยบายสาธารณะสมัยใหม่

กิจกรรมดูงานเชื่อมสายสัมพันธ์ MPA12and MPA13

Download

เสียงปลง

Nonstop - I'm The Sexy Girl - DJ Back Up