วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555


วัยหนุ่มของคาร์ล มาร์กซ
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
๔. ลัทธิเฮเกลจากที่กล่าวมาแล้วว่า ชีวิตของมาร์กซในวัยหนุ่มเริ่มเปลี่ยนแปลง อย่างจริงจัง หลังจากที่เขารับความคิดของฟรีดริช เฮเกล (Friedrich Hegel) ดังนั้นจึงต้องเริ่มศึกษาเฮเกลเสียก่อน
 เฮเกล เกิดที่เมืองสตูตการ์ตใน ค.ศ.๑๗๗๐ เข้าเรียนใน มหาวิทยาลัยทูบิงเก็น โดยศึกษาด้านศาสนวิทยา แต่เขากลับมาสนใจวิชา ปรัชญาและคลาสสิกศึกษา1 และสนใจอย่างมากในปรัชญาของ อินมานูเอล คานต์ (Imanuel Kant) ซึ่งเป็นนักปรัชญาจิตนิยมคนสำคัญ ก่อนหน้าสมัยของเขา ใน ค.ศ.๑๘๐๑ เขาได้รับตำแหน่งอาจารย์พิเศษ ที่มหาวิทยาลัยเจนา และได้ร่วมกับโจเซฟ ฟอน เชลลิง (Joseph von Schelling) ออกวารสารทางปรัชญาชื่อ ครีติช (Kritisches) แต่อยู่ได้เพียง ๓ ปีก็เลิก เพราะเฮเกลและเชลลิงเกิดแตกแยกกัน เฮเกลอยู่ที่เจนามา จนถึง ค.ศ.๑๘๐๖ ชีวิตก็เปลี่ยน  เพราะในระหว่างนั้นอยู่ในระยะสงคราม นโปเลียน ปรากฏว่ากองทัพฝรั่งเศสบุกเมืองเยนาและปิดมหาวิทยาลัย เขาจึงต้องย้ายไปอยู่เมืองเบิร์นบูร์ก รับตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือ และเป็นผู้ดูแลโรงกายบริหาร จนถึง ค.ศ.๑๘๑๖ เมื่อสงครามสงบแล้ว เขาก็กลับไปเป็นอาจารย์ด้านปรัชญาอยู่เมืองไฮเดลเบิร์ก จากนั้น ใน ค.ศ.๑๘๑๘ เขาก็ย้ายไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน และอยู่จน ถึงแก่กรรมเมื่อ ค.ศ.๑๘๓๑    ดังนั้นเมื่อ คาร์ล มาร์กซ เข้าศึกษาที่ มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ค.ศ.๑๘๓๘  เฮเกลได้ถึงแก่กรรมไปแล้วแต่อิทธิพล ทางความคิดปรัชญาของเขายังคงอยู่
 ปรัชญาของเฮเกลก็คือ ลัทธิจิตนิยม เขาเชื่อว่า สิ่งที่เป็นความจริง จะต้องมีลักษณะสมบูรณ์ทั่วด้าน เฮเกลเรียกว่าเป็น จิตสัมบูรณ์ ซึ่ง เป็นตัวตนสมบูรณ์และครอบงำสรรพสิ่ง และเป็นสิ่งตรงข้ามกับโลกความ เป็นจริงที่มนุษย์เห็นอยู่โดยทั่วไปหรือสัมผัสได้  เฮเกลเห็นว่า โลกเชิง ประจักษ์นั้นเป็นเพียงการสะท้อนออกบางส่วนของความจริง แต่ไม่ใช่ ความจริงที่สมบูรณ์ และเขาอธิบายความจริงสูงสุดของโลกคือ หลักเหตุผล (rational) มนุษย์จะเข้าถึงความจริงได้ก็ด้วยความเข้าใจ ในหลักเหตุผล ซึ่งก็คือกระบวนการทางตรรกวิทยา แต่จุดเด่นในปรัชญา ของเฮเกลคือ ทัศนะแบบวิภาษวิธี (dialectic) โดยอธิบายว่า จิตหรือ ตัวตนสมบูรณ์นี้แสดงออกในรูปของความขัดแย้ง ๒ ด้าน คือด้าน สนับสนุนและด้านปฏิเสธ ด้านหนึ่งเป็นบทเสนอ (thesis) ส่วนอีกด้านหนึ่ง เป็นบทแย้ง  (antithesis) และวิวัฒนาการการต่อสู้ระหว่าง ๒ ด้านที่ขัดแย้ง นี้เองจะนำมาสู่การพัฒนาของสิ่งใหม่ ที่จะเรียกว่า บทสรุป(synthesis) และบทสรุปนี้ก็จะกลายเป็นบทเสนอ (thesis) ใหม่  ก่อให้เกิดบทแย้ง (antithesis) ใหม่ และนำมาสู่บทสรุป (synthesis) ใหม่  ไปจนสิ้นสุดกระบวน การพัฒนาที่จะนำไปสู่ความเป็นจิตสมบูรณ์อันแท้จริง
เฮเกลได้นำเอาหลักปรัชญาของตนมาอธิบายประวัติศาสตร์จาก ปาฐกถาสำคัญคือ  “ปรัชญาของประวัติศาสตร์” (๑๘๒๒) เฮเกล อธิบายว่า ประวัติศาสตร์ของมนุษย์จะพัฒนาคล้ายกับขดลวดวงกลม คือ มีลักษณะ คล้ายจะซ้ำรอย แต่จะก้าวไปข้างหน้า โดยสิ่งที่จะผลักดันประวัติศาสตร์ ให้ก้าวหน้านั้น  คือเหตุผลของมนุษย์ ประวัติศาสตร์แบบเฮเกลจึงเป็น ประวัติศาสตร์ความคิด เพราะเฮเกลมีข้อสมมตว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มี เหตุผล (rational) เพียงแต่ในสภาพแวดล้อมทางสังคม มนุษย์จะดำรงอยู่ ท่ามกลางความไม่มีเหตุผล และความขัดแย้งนี้เอง จะทำให้ประวัติศาสตร์ พัฒนาในแบบวิภาษวิธี คือ สังคมมนุษย์จะพัฒนาเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักคิด เป็นเหตุให้มนุษย์รวมตัวกันอยู่เป็นสังคม ตามนัยเช่นนี้ ก็คือ การที่มนุษย์ สร้างสังคมตามมโนคติและความปรารถนา และแปรเป็นความเป็นจริง ทางสังคม ดังนั้น สังคมในมโนคติจึงเป็นบทเสนอ สังคมในความเป็นจริง จึงเป็นบทแย้ง แล้วก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ความแปลกแยก (alienation) นำมาสู่การปรับมโนคติและสะท้อนออกสู่การปฏิบัติทางสังคมใหม่กลาย เป็นบทสรุป (synthesis)  ซึ่งก็จะเป็นจุดตั้งต้นของบทเสนอใหม่ กระบวนการทางสังคมจะพัฒนาเช่นนี้ จนนำมาสู่การสร้างรัฐ
ตามหลักของเฮเกล รัฐจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนา ประวัติศาสตร์ แต่รัฐก็ยังมีความไม่สมบูรณ์ จึงกลายเป็นจุดตั้งต้นของ ข้อเสนอใหม่เช่นกัน จากนั้นรัฐก็จะพัฒนาตามกระบวนการวิภาษวิธี จน นำไปสู่รัฐที่สมบูรณ์ตามจินตภาพสากลมากยิ่งขึ้น นั่นคือรัฐที่มีเสรีภาพ และสมเหตุสมผล ซึ่งโดยข้อสรุปของเฮเกล รัฐราชาธิปไตยของปรัสเซีย ขณะนั้น เป็นรัฐที่พัฒนาอย่างสมเหตุผล และใกล้เหตุผลสากลมากที่สุด2 ด้วยหลักการเช่นนี้ สังคมทุกขั้นตอนจึงมีที่มาจากการคิดเชิงตรรก (logic) ของมนุษย์ ความคิด (idea)จึงเป็นพลังผลักดันสำคัญของประวัติศาสตร์
กล่าวโดยสรุปถึงหลักปรัชญาของเฮเกล คือ ปรัชญาจิตนิยม ที่ให้ ความสำคัญแก่ความคิด ในเชิงเหตุผล ความน่าสนใจของปรัชญาเฮเกล คือการวิเคราะห์สรรพสิ่งว่ามีกระบวนการขัดแย้งภายใน  และทำให้ สรรพสิ่งพัฒนา ซึ่งข้อเสนอใหม่เหล่านี้ ทำให้ปรัชญาเฮเกลเป็นที่สนใจ อย่างมาก และทำให้มีผู้ศึกษาตามมากมาย
 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เฮเกลถึงแก่กรรม กลุ่มที่สนใจปรัชญา ของเฮเกล ได้แตกออกเป็น ๒ ส่วน คือ กลุ่มลัทธิเฮเกลฝ่ายขวา และกลุ่ม ลัทธิเฮเกลฝ่ายซ้าย โดยประเด็นหลักที่มีความแตกต่างกัน ก็คือเรื่อง การวิเคราะห์ศาสนา จากที่เฮเกลอธิบายว่า ศาสนาเป็นรูปแบบสูงสุดแห่ง ชีวิตทางจิตวิญญานของมนุษยชาติ ศาสนาก็มีการพัฒนา แบบวิภาษวิธี เช่นกัน โดยรูปแบบที่สูงสุดตามความคิดของเฮเกล คือ ศาสนาโปรเตส-แตนต์ นิกายลูเธอรัน ของชนชาติเยอรมัน ซึ่งเป็น การรื้อฟื้นของจิตสากล ทางศาสนา เฮเกลอธิบายว่า สาระของศาสนานั้น ความจริงก็เป็นเช่นเดียว กับปรัชญา เพียงแต่มรรควิธีในการทำ ความเข้าใจแตกต่างกัน ขณะที่ ปรัชญานั้นใช้ความคิดหรือมโนคติ ศาสนาใช้จินตนาการ อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าศาสนามีส่วนที่เป็นปรัชญาอยู่  และในส่วนนี้เองที่จะนำไปสู่ ความเข้าใจจิตสัมบูรณ์ได้  ดังนั้น กลุ่มเฮเกลฝ่ายขวา จะยอมรับว่า ศาสนา เป็นสัจธรรมที่เป็นเหตุผล และ พระเจ้าก็คือพัฒนาการของเหตุผลสมบูรณ์ ส่วนกลุ่มเฮเกลฝ่ายซ้าย นำโดย บรูโน บาวเออร์ (Bruno Bauer) ซึ่งเป็นอาจารย์ฝ่ายก้าวหน้า สอนปรัชญาที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน เห็นว่า สาระของศาสนานั้นคือ ความจริงที่ถูกบิดเบี้ยว การพัฒนาของศาสนาจึง มาจากด้านที่ไม่สมเหตุผล และคำสอนของศาสนาคือ มายาคติ (myth) ที่ถูกสร้างขึ้น

๕. ลัทธิเฮเกลกับมาร์กซ ตั้งแต่ช่วงฤดูร้อน ค.ศ.๑๘๓๘ ที่มาร์กซได้อ่านงานของเฮเกล มาร์กซรับเอาแนวปรัชญาของเฮเกลทันที ในระยะนั้น บรูโน บาวเออร์ ได้ตั้งกลุ่มศึกษาที่ชื่อว่า กลุ่ม ”ยุวชนลัทธิเฮเกล” (Young Hegelians) ซึ่ง มาร์กซเข้าร่วมด้วยทันที แนวโน้มของกลุ่มยุวชนลัทธิเฮเกลฝ่ายซ้าย เหล่านี้  นอกจากจะวิพากษ์ศาสนาแล้ว ยังมีแนวโน้มในการวิพากษ์ รัฐปรัสเซียด้วย มาร์กซ เป็นหนึ่งในนักคิดของกลุ่มที่จะเริ่มนำเอา ลัทธิเฮเกล มาวิเคราะห์สังคมและการเมือง คนอื่นในกลุ่มที่สำคัญก็เช่น อด็อฟ รูเตนเบิร์ก (Adolph Rutenberg) นักภูมิศาสตร์ที่หันมาสนใจ ปรัชญา คาร์ล คืปเปน (Karl Keppen) ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง เฟรเดอริก มหาราชและกลุ่มต่อต้าน พิมพ์ใน ค.ศ.๑๘๔๐ อุทิศให้กับคาร์ล มาร์กซ และคืปเปน ต่อไปจะกลายเป็นผู้สนใจพุทธศาสนา  และเขียนหนังสือ เกี่ยวกับกำเนิดของพุทธศาสนา   นอกจากนี้ บรูโน บาวเออร์ ก็เสนอ ผลงานของเขา ชื่อ รัฐคริสเตียนในยุคสมัยของเรา พิมพ์ใน ค.ศ.๑๘๓๘ อุทิศให้กับกลุ่มยุวชนลัทธิเฮเกล
ในด้านการศึกษา ระยะแรกมาร์กซพยายามที่จะศึกษาวิชากฏหมาย ควบคู่กับปรัชญา จึงหันไปศึกษานิติปรัชญา ผลจากการศึกษาด้าน กฏหมาย ทำให้เขาเห็นข้อจำกัดในข้อกฏหมายที่รับรองกรรมสิทธิเอกชน ว่าเป็นสิทธิธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ.๑๙๓๘  เขาก็ยกเลิก การศึกษากฏหมาย และหันมาสนใจปรัชญาแต่เพียงอย่างเดียว และ ตั้งแต่ ค.ศ.๑๘๓๙ มาร์กซตัดสินใจที่จะทำวิทยานิพนธ์ในระดับ ปริญญาเอก  เพื่อจะได้เข้าเป็นอาจารย์สอนปรัชญาในมหาวิทยาลัย ได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "ความแตกต่างระหว่างปรัชญาธรรมชาติของ เดโมคริตุสกับปรัชญาธรรมชาติของเอพิคิวรัส” ในงานชิ้นนี้ มาร์กซได้ ศึกษาปรัชญาของเดโมคริตัส (Democretus) และเอพิคิวรัส (Epicurus) ซึ่งเป็นนักปรัชญากรีก ๒ คน ที่มีแนวคิดในเชิงวัตถุนิยม เดโมเครตัส คือผู้ที่เสนอว่า ปฐมธาตุนั้นคือ อะตอมและที่ว่าง อะตอมเป็นสิ่งที่เล็กที่สุด มีมากมายนับไม่ถ้วนและแบ่งแยกไม่ได้ สรรพสิ่งทั้งหลายประกอบด้วย อะตอมมารวมตัวกัน เอพิคิวรัสก็ยอมรับเช่นกันว่าอะตอมเป็นพื้นฐาน ของสรรพสิ่ง แต่เน้นว่า ความรู้ของมนุษย์มาจากผัสสะ มาร์กซได้นำ เอาปรัชญาทั้งสองสำนักมาเปรียบเทียบกัน แล้วชี้ให้เห็นว่าความคิดของ เดโมเครตัสนั้นเป็นแบบกลไก ที่เห็นว่าสรรพสิ่งดำเนินไปภายใต้กฎเกณฑ์ ทางวัตถุ แต่กลับคิดว่าความรู้ที่ถูกต้องมาจากการคิด ซึ่งเท่ากับเป็น การตั้งข้อสงสัยต่อโลกของผัสสะ ขณะที่เอพีคิสรัส ยอมรับโลกของ ผัสสะว่าเป็นความจริงแท้  แต่พยายามที่จะคงรักษาเจตจำนงอิสระของ มนุษย์ และจุดมุ่งหมายไปสู่ความสุข  ซึ่งเป็นการปฏิเสธการกำหนด โดยโลกของวัตถุ ซึ่งมาร์กซเห็นว่า ปรัชญาของเอพีคิวรัสมีข้อเด่นตรงที่ ยอมรับในจิตเสรีของมนุษย์เหนือข้อกำหนดทางวัตถุ วิทยานิพนธ์ของ มาร์กซ ถือว่าเป็นงานที่ดีมากชิ้นหนึ่ง ในการวิเคราะห์ปรัชญาวัตถุนิยม ของทั้งสองสำนัก เขาเสนอวิทยานิพนธ์ต่อมหาวิทยาลัยเจนา และได้รับ ปริญญาเอกสาขาปรัชญาในเดือนเมษายน ค.ศ.๑๘๔๑
ในระหว่างที่มาร์กซทำวิทยานิพนธ์ บาวเออร์ได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ ที่มหาวิทยาลัยบอนน์ และได้ชวนมาร์กซไปทำงานที่นั่น ดังนั้นเมื่อจบ การศึกษา เขากลับไปพักผ่อนที่บ้านที่เมืองเทรียร์ ราวเดือนเศษ จากนั้น ก็สมัครเข้าเป็นอาจารย์สอนปรัชญาที่มหาวิทยาลัยบอนน์ แต่ในขณะนั้น บาวเออร์กำลังประสบปัญหา จากข้อเสนอของเขาที่วิจารณ์ศาสนา ซึ่ง บาวเออร์เสนอว่า  พระเจ้าเป็นสิ่งไม่มีอยู่จริง  ดังนั้นพระวรสารของพระเจ้า จึงเป็นเรื่องเหลวไหล พระเยซูจึงไม่ใช่พระบุตร และเป็นไปได้ด้วยว่า พระเยซูจะไม่มีตัวจริงทางประวัติศาสตร์ ในขณะนั้น ปรัสเซียมีการเปลี่ยน แปลงทางการเมือง จากการที่กษัตริย์เฟรเดอริกวิลเลียมที่ ๔ ขึ้นครองราชย์ ใน ค.ศ.๑๘๔๐ และพยายามที่จะดำเนินการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น ดังนั้น รัฐปรัสเซียจึงเห็นว่า ข้อเสนอของบาวเออร์เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐในระหว่าง นั้นมาร์กซต้องกลับเมืองเทรียร์  เพราะบารอนแห่งเวสฟาเลน บิดาของ เจนนีป่วยหนัก  และในที่สุด บารอนก็ถึงแก่กรรมในเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๘๔๒ ในเดือนเดียวกับที่บาวเออร์ ถูกรัฐบาลปรัสเซียปลดตำแหน่ง จากมหาวิทยาลัย ซึ่งหมายถึงว่า โอกาสที่มาร์กเข้าซจะรับตำแหน่ง อาจารย์ในมหาวิทยาลัยบอนน์หมดลงไปด้วย
มาร์กซจึงหันมาทำอาชีพนักหนังสือพิมพ์ โดยทำงานที่หนังสือ วารสารไรน์ (Rheinische Zeitung) โดยผู้ร่วมงานสำคัญของเขาคือ อาร์โนลด์ รูเก (Arnold Ruge) ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ก้าวหน้าอีกคนหนึ่ง ของยุคสมัย และเป็นพวกลัทธิเฮเกลฝ่ายซ้ายเช่นกัน รูเกถูกปฏิเสธจาก ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยมาก่อน  เขาจึงมายึดอาชีพหนังสือพิมพ์ เพื่อเผยแพร่ความรู้และความคิดใหม่สู่ประชาชน ต่อมา บาวเออร์ก็เขียน บทความลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ของรูเกเข่นกัน
สำหรับมาร์กซ  เริ่มเขียนบทความลงวารสารไรน์ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๘๔๒ จากนั้น ก็ได้เขียนบทความต่างๆ ลงวารสาร อย่างสม่ำเสมอ  ในขณะเดียวกันเขาก็เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง โดยตรง บรรยากาศทางการเมืองในแคว้นไรน์แลนด์  ที่เป็นที่ตั้งของ เมืองบอนน์และโคโลญนั้น  มีความแตกต่างอย่างมากจากเมือง หลวงเบอร์ลิน  ซึ่งเป็นศูนย์กลางของปรัสเซีย จากการที่ไรน์แลนด์ถูก ฝรั่งเศสผนวกในสมัยสงครามนโปเลียน รัฐอิสระ ๑๐๘ นคร ถูกฝรั่งเศส ยุบรวมเหลือ ๔ จังหวัด ระบบศักดินาถูกยกเลิก เศรษฐกิจทุนนิยมพัฒนา ดังนั้น เมื่อเขตนี้จะถูกรวมเข้ากับปรัสเซียเมื่อ ค.ศ.๑๘๑๔ จึงกลาย เป็นเขตที่อิทธิพลเสรีนิยมรุนแรงที่สุด โดยเฉพาะในสมัย ค.ศ.๑๘๔๒ เกิดกลุ่มทางการเมืองที่เรียกว่า สโมสรโคโลญ(Cologne Circle) ซึ่งมีสมาชิก เช่น จอจ์ช จุง (Georg Jung)  โมเสส เฮส (Moses Hess) และคนอื่นๆ   เป้าหมายของกลุ่มก็คือการรณรงค์เผยแพร่แนวคิด ประชาธิปไตย ซึ่งมีเป้าหมายในการเรียกร้องสิทธิของราษฎร  ให้มี การเมืองในระบบรัฐสภา ให้มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการบริหารประเทศ ซึ่งขัดแย้งอย่างมากกับรัฐปรัสเซียในขณะนั้น ที่เป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ อำนาจสูงสุดอยู่ที่กษัตริย์ และมิได้ให้สิทธิแก่ราษฎร ประเด็นของการเรียก ร้องต่อมา ก็คือ เรื่องการรวมเยอรมนีเข้าเป็นเอกภาพ  กรณีนี้ ก็ยังมีปัญหา จากการที่เยอรมนีแบ่งเป็นแว่นแคว้นจำนวนมาก กษัตริย์ที่เป็นผู้ครอง แคว้น ไม่ต้องให้มีการรวมประเทศ เพราะจะทำให้ตนสูญเสียอำนาจ กลุ่มอนุรักษ์นิยม และเจ้าขุนนางในรัฐต่างๆ จึงต่อต้านการรวมประเทศ
กลุ่มโคโลญจึงผลักดันการก่อตั้งวารสารไรน์ ซึ่งเริ่มออกเผยแพร่ ในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ.๑๘๔๒ โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นกระบอกเสียง เผยแพร่แนวคิดเสรีนิยมและประชาธิปไตย เมื่อมาร์กซเข้าไปประจำ กองบรรณาธิการในเดือนเมษายน ค.ศ.๑๘๓๒ อด็อฟ รูเตนเบิร์ก หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเฮเกลฝ่ายซ้ายเป็นบรรณาธิการ รูเตนเบิร์ก เป็น มิตรสนิทและเป็นผู้สนับสนุนมาร์กซอย่างมาก ความจริงวารสารนี้ถูก จับตาอย่างมากจากรัฐปรัสเซีย  และต่อมารัฐบาลกลางเสนอให้ปิด วารสารนี้ แต่รัฐบาลท้องถิ่นไรน์แลนด์เกรงว่า  การปิดหนังสือพิมพ์จะยิ่ง ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ประชาชน  จึงสัญญาว่าจะคอยควบคุม ดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นวารสารจึงดำเนินต่อมาได้ ต่อมา ปรากฏว่า รูเตนเบิร์ก มีปัญหาในการทำงานเป็นบรรณาธิการ จากการที่เขาติดสุรา  อย่างหนัก และทำให้เสียงานหลายครั้ง ทำให้มาร์กซต้องเข้าไปมี บทบาทในการบริหารกองบรรณาธิการเพิ่มขึ้น จนในเดือนตุลาคม ค.ศ.๑๘๔๒ มาร์กซก็ได้รับตำแหน่งบรรณาธิการแทน
 หลังจากที่มาร์กซเข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการแล้ว วารสาร เล่มนี้ก็เป็นที่สนใจเพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชน ยอดขายเพิ่มขึ้นตามลำดับ จน กลายเป็นวารสารที่เป็นที่รู้จักในระดับชาติ ที่รณรงค์ในเรื่องประชาธิปไตย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วัดหนองโว้ง(พระอารามหลวง)

วัดหนองโว้ง(พระอารามหลวง)
ตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

พระวิสัน (พธบ./รปม)

รูปแบบ การวิจัย โดย ผศ.(พิเศษ) นภดล สุชาติ พ.บ M.P.H

อ้างอิงจาก http://www.slideshare.net/guest9e1b8/9-presentation-948269

South East Asia University

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ตัวแบบนโยบายสาธารณะสมัยใหม่

กิจกรรมดูงานเชื่อมสายสัมพันธ์ MPA12and MPA13

Download

เสียงปลง

Nonstop - I'm The Sexy Girl - DJ Back Up